top of page

5. Prodigal Son

สำหรับการศึกษาเพิ่มเติมในชุดนี้ คลิกที่นี่

5. คำอุปมาของพ่อที่รักลูก

ในพระกิตติคุณลูกาบทที่ 15 มีคำอุปมาอยู่สามเรื่อง ได้แก่ คำอุปมาเรื่องแกะหลงหาย (ข้อ 3-7) คำอุปมาเรื่องเหรียญเงินหาย (ข้อ 8-10) และคำอุปมาเรื่องพ่อที่รักลูก (ข้อ 11-32)  บริบทของบทที่สิบห้าทั้งหมดเกี่ยวข้องกับท่าทีของพวกฟาริสีและบรรดาธรรมาจารย์  สิ่งที่กระตุ้นให้พระเยซูสอนคำอุปมาทั้งสามเรื่องนี้ คือ เสียงบ่นของพวกฟาริสีที่ว่า พระเยซูยอมรับพวกคนบาปทั้งหลาย แถมยังกินข้าวกับพวกเขาด้วย (ข้อ 2)  มีการปล่อยข่าวออกมาจากกลุ่มอิทธิพลทางศาสนา (ฟาริสี) ว่า พระเยซูทำอัศจรรย์ด้วยฤทธิ์อำนาจจากซาตาน (มัทธิว 12:24)  พวกเขาชี้ไปยังผู้คนเหล่านั้นที่พระเยซูคบหาสมาคมด้วยไม่ว่าจะเป็นคนบาป บรรดาหญิงโสเภณี และคนเก็บภาษีเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่า พระเยซูเป็นพวกเดียวกับซาตาน  พวกเขาพูดว่า ถ้าชายผู้นี้เป็นพระเมสสิยาห์จริง พระองค์ก็คงต้องไม่ไปสนิทชิดเชื้อกับคนแบบนั้น!

 

พระเยซูสอนคำอุปมาทั้งสามเรื่องนี้ เพื่อปรับมุมมองของพวกเขาให้ถูกต้องเกี่ยวกับบุคลิกลักษณะและธรรมชาติของพระเจ้า เช่น พระองค์มีท่าทีอย่างไรต่อผู้หลงหาย ผู้ขัดสน และผู้คนที่แตกสลายและเจ็บปวดในโลกนี้  บรรดาผู้นำศาสนาทั้งหลายที่ร่วมฟังอยู่ด้วยล้วนเป็นผู้ทรงอำนาจในประเทศขณะนั้น  ประชาชนถูกผูกมัดให้ต้องทำตามกฎและข้อบังคับต่างๆ  ผู้คนมองว่าฟาริสีเป็นพวกที่เพียรพยายามเป็นเหมือนพระเจ้าและทำตามพระองค์ได้อย่างไร้ที่ติด 2“และพวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสีนั่งบนที่นั่งของโมเสส 3เหตุฉะนั้นซึ่งเขาสั่งสอนพวกท่านจงถือประพฤติตาม เว้นแต่ความประพฤติของเขาอย่าได้ทำตามเลย เพราะเขาเป็นแต่ผู้สั่งสอน แต่เขาเองหาทำตามไม่” (มัทธิว 23:2) เมื่อพระเยซูเห็นแบบอย่างที่พวกธรรมาจารย์และฟาริสีกำลังทำให้ประชาชนทั่วไปทำตาม แถมยังดูถูกดูแคลนผู้ที่ไม่ทำตามและไม่ใช่พวกพ้องของตน พระองค์จึงตัดสินใจเล่าเรื่องทั้งสามให้พวกเขาฟัง เพื่อแสดงให้เห็นถึงหัวใจของพระบิดาที่มีต่อผู้หลงหาย  คำอุปมาทั้งสองเรื่องที่เรากล่าวถึงไปแล้วต่างก็จบลงด้วยความชื่นชมยินดีและการเฉลิมฉลองที่ได้พบแกะและเหรียญที่หายไป

 

หลายคนเรียกคำอุปมาตอนนี้ว่า คำอุปมาบุตรผู้ล้างผลาญ (บุตรน้อยหลงหาย)  แต่ในความเห็นของผมเนื้อหาตอนนี้เป็นเรื่องของพ่อที่สุรุ่ยสุร่ายมากกว่า ก่อนคุณจะเริ่มเปิดอีเมล์ แล้วขว้างก้อนหินอิเล็กทรอนิคใส่ผม ผมขออธิบายก่อนว่า คำว่า “สุรุ่ยสุร่าย” นี้ไม่ได้กล่าวอยู่ในเนื้อหา และหมายความว่า

 

“ฟุ่มเฟือยอีลุ่ยฉุยแฉก หรืออย่างสิ้นเปลือง”  เช่นดังค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยกับอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ไม่จำเป็น; ชีวิตที่ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ การให้ หรือรับอย่างล้นเหลือ; สุรุ่ยสุร่าย หรือ มากมายก่ายกอง: การสรรเสริญอย่างเยินยอล้นหลาม. [1]

 

จริงอยู่ว่า บุตรชายคนเล็กใช้จ่ายฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย แต่พ่อเองยิ่งฟุ้งเฟ้อ และสุรุ่ยสุร่ายมากกว่าอีกในความกรุณาปราณี ความเมตตา และในการยอมรับลูกชายกลับบ้านจากแดนไกล  พ่อใช้เงินอย่างเหมาะสม เพราะเขาไม่จำเป็นต้องให้ตามที่ลูกชายอยากได้ก็ได้  เมื่อคำนึงถึงมุมมองนี้ แล้วทีนี้ให้เรามาดูอุปมาเรื่องที่สามในบทนี้กัน

 

บุตรชายคนเล็กกำลังเดินทางออกจากบ้าน

 

11พระเยซูทรงกล่าวต่อไปว่า ชายคนหนึ่งมีบุตรสองคน 12บุตรคนเล็กพูดกับบิดาว่า พ่อ ขอแบ่งทรัพย์สิน ส่วนที่ตกเป็นของลูกให้ลูกด้วยบิดาจึงแบ่งสมบัติให้แก่บุตรทั้งสอง 13ต่อมาไม่กี่วัน บุตรคนเล็กนั้นก็รวบรวมทุกสิ่งทุกอย่างแล้วเดินทางไปยังเมืองไกล และผลาญทรัพย์สินของตนที่นั่นด้วยการใช้ชีวิตแบบฟุ่มเฟือย 

 

สิ่งแรกที่เราสังเกตเห็นเกี่ยวกับเด็กหนุ่มคนนี้ คือ ท่าทีที่เรียกร้องของเขา  เขาไม่ได้ขอดีๆ แถมยังไม่มีมารยาทและไหวพริบในการสรรหาคำพูดคำจาที่เหมาะสม  ไม่มีการพูดคุยกันถึงเจตนาของเขา  เขาเรียกร้องเอาจากพ่อ เพราะรู้ว่าพ่อเป็นคนมีเมตตากรุณาเพียงไร  เขาพูดทำนองว่า “แบ่งมรดกส่วนของลูกให้ลูกเดี๋ยวนี้เลย แทนที่จะรอจนกว่าพ่อจะตายหรือเกษียณ”  พ่อรู้ถึงความคิดในใจของชายหนุ่มอยู่บ้าง และพอจะรู้บ้างว่า ชายหนุ่มต้องการเอาเงินก้อนนี้ไปทำอะไร  ลูกชายทั้งสองต่างค่อนข้างมีความสุขที่พ่อจะแบ่งทรัพย์สมบัติให้เขาทั้งสอง  ลูกชายคนโตได้สองในสามส่วน และคนเล็กได้หนึ่งในสามส่วนตามกฎหมายของโมเสส (เฉลยธรรมบัญญัติ 21:17)  โดยไม่รีรอแต่อย่างใด ลูกชายคนเล็กก็ขายทรัพย์สินของตนเอาเงินสดมาไว้ในมือทันที

 

คำถามข้อที่ 1)  ทำไมบิดาจึงให้มรดกทรัพย์สินตามที่ลูกชายเรียกร้อง แทนที่จะให้เขารอคอย ?

 

ลูกชายคนเล็กเบื่อหน่ายที่ต้องอยู่บ้านพ่อของตน เขาอยากเป็นผู้ใหญ่ และออกไปหาประสบการณ์กับโลกภายนอก พ้นจากการปกครองและสายตาของพ่อ  พ่อก็ไม่โต้แย้ง หรือพยายามชี้แจงเหตุผลกับเขา มีบทเรียนบางอย่างที่พ่อสอนลูกชายไม่ได้  พวกเขาต้องประสบด้วยตัวเอง  ความเจ็บปวดเป็นครูที่ดี  เราไม่สามารถปกป้องลูกๆของเราจากการเรียนรู้บทเรียนบางอย่างที่มีแต่ความเจ็บปวดเท่านั้นที่จะสอนเขาได้   เด็กๆเรียนรู้ที่จะพึ่งพาพ่อแม่ในทุกสิ่ง แต่มีบทเรียนบางอย่างที่จะเรียนรู้ได้ต่อเมื่อเรายืนอยู่บนสองขาของตัวเองเท่านั้น   ในทุกครอบครัว เมื่อถึงจุดหนึ่ง เราต้องปล่อยลูกน้อยออกจากรังไปเพื่อให้พวกเขาโบยบินด้วยตัวเอง  ช่วงวัยรุ่นควรเป็นช่วงปีที่พ่อแม่สั่งสอนและเตรียมปล่อยให้ลูกๆเติบโตและพึ่งพาตัวเองให้ได้  บ่อยครั้งเมื่อพ่อแม่ต้องปล่อยลูกออกไปจากการดูแลก็มักจะเป็นช่วงเวลาที่เศร้าสร้อย  แต่ก็หวังว่าก่อนจะถึงเวลานั้น ลักษณะนิสัยที่ชอบธรรมเหมือนพระเจ้าจะได้ถูกก่อร่างสร้างขึ้นในพวกเขาแล้ว แม้เมื่อพ่อแม่ดีๆจะได้พยายามเตรียมหนุ่มสาวของตนสำหรับโลกภายนอกอย่างสุดความสามารถแล้ว แต่บางครั้งเขาก็ยังจะเดินออกไปจากทุกสิ่งที่เขาได้เรียนรู้มา

 

พระเยซูพูดถึงลูกคนเล็กว่า “ได้ออกเดินทางไปยังเมืองไกลและผลาญทรัพย์สินของตนที่นั่นด้วยการใช้ชีวิตแบบฟุ่มเฟือย” (ข้อ 13) ต่อมาลูกชายคนโตกล่าวหาน้องชายว่า ไปอยู่กินกับหญิงโสเภณี (ข้อ 30) ทั้งๆที่ยังไม่ได้เห็นน้องชายเลย  เขารู้ได้อย่างไรว่า น้องชายกำลังผลาญทรัพย์ของพ่อไปกับหญิงโสเภณี?  เป็นไปได้สูงว่า พี่น้องสองคนนี้ได้คุยกันเรื่องนี้ เช่น น้องชายอาจพยายามหว่านล้อมให้พี่ชายไปด้วย  ผู้ที่ตั้งใจทำบาป บ่อยครั้งมักพบว่า ทำบาปคนเดียวมันยาก  ความบาปชอบมีเพื่อน  บาปเริ่มจากความคิด  คนเราไม่ได้เป็นอย่างที่เขาคิดว่าตัวเองเป็น แต่เขาเป็นในสิ่งที่เขาคิด  (อาโนน) สตีเฟน ชาร์นอค กล่าวว่า: “ดุจรูปตราประทับที่ถูกผนึกลงบนขี้ผึ้งฉันใด ความคิดในใจก็จะถูกตีพิมพ์ด้วยการกระทำฉันนั้น”  การคิดดี นำมาซึ่งการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง  จำไว้ว่าความคิดของคุณดังไปถึงพระเจ้า  พระองค์รู้ทุกอย่างที่เราคิด  ความคิดชั่วและบาปหนาจะเกิดขึ้นกับทุกคน แต่ความคิดเหล่านั้นจะกลายเป็นบาปได้ก็ต่อเมื่อเราจมปลักอยู่กับมัน ปล่อยให้มันหยั่งราก และงอกขึ้นในห้วงความคิดของเรา  วิธีหนึ่งในการมองเรื่องนี้ คือ เราห้ามนกไม่ให้บินวนรอบศีรษะเราไม่ได้ แต่เราป้องกันไม่ให้พวกมันทำรังบนผมของเราได้

 

  14แต่ว่าทุกคนก็ถูกล่อให้หลง เมื่อกิเลสของตัวเองล่อแบะชักนำให้กระทำตาม 15ครั้นตัณหาเกิดขึ้นแล้วก็ทำให้

 

  เกิดบาป และเมื่อบาปเจริญเต็มที่แล้วก็นำไปสู่ความตาย (ยากอบ 1:14-15)

 

คำกรีกที่แปลว่า “ถูกล่อลวง” หมายถึงการจับปลาด้วยเหยื่อ  ซาตานใช้ความปรารถนาและความคิดชั่วมาเกี่ยวให้เราติดเบ็ด แล้วจึงสาวเราเข้าไป  ศัตรูล่อให้เราออกห่างจากพระเจ้า  ยิ่งเราฟังมันมากเท่าไร เราก็ยิ่งเป็นทาสมันมากขึ้นเท่านั้น และยิ่งออกห่างจากบ้านพระบิดามากขึ้น  ชายหนุ่มคนนี้งับเหยื่อและแหวกว่ายไปกับสิ่งเย้ายวนใจนั้น จนกระทั่งจู่ๆศัตรูก็ดึงคันเบ็ดเก็บตะขอเข้าไป  เขาถูกมันจับไปโดยไม่เหลือทรัพย์สินอะไรติดตัว และไม่มีใครคอยช่วยได้  ผลลัพธ์ก็เจ็บปวดมาก

 

ผมพบพระเยซูคริสต์ในปี 1977 แต่ก่อนหน้านั้น ผมติดกัญชาและยาเสพติดอื่นๆ  ด้วยความขยะแขยงในวิถีชีวิตและภาพลักษณ์ของตัวเอง  ผมมารู้ตัวว่า ผมติดมันแล้วก็ตอนที่ผมโยนยาพวกนั้นทิ้งไปกองหนึ่ง แต่แล้วก็กลับไปซื้อมาเพิ่มอีกในวันรุ่งขึ้น  เมื่อผมต้องติดคุกเพราะ “ยอมให้ใช้สถานที่ของตัวเองเป็นที่สูบกัญชา” ผมรู้ว่าผมต้องตัดยาให้ได้ เพราะมันทำให้ชีวิตผมเหลวแหลก  แต่เมื่อผมมอบชีวิตให้พระคริสต์เท่านั้น ในที่สุดผมก็มีพลังเอาชนะและเลิกนิสัยนั้นได้  บาปเป็นเจ้านายที่โหดเหี้ยม เมื่อเงินของลูกชายคนเล็กหมดลง สถานการณ์ของเขาก็เปลี่ยนไปเมื่อเกิดการกันดารอาหารขึ้นอย่างรุนแรงในแผ่นดิน  บ่อยครั้งพระเจ้าก็ใช้ความต้องการของเราเป็นวิธีเรียกร้องความสนใจจากเรา  ชีวิตในดินแดนที่ห่างไกลจากพ่อเริ่มไม่ตื่นเต้นเหมือนตอนแรกๆอีกต่อไป  ตรงกันข้าม เขากลับต้องทนทุกข์ทรมาน ชีวิตของเขาตกต่ำอย่างรวดเร็ว

 

คำถามข้อที่ 2) คุณเห็นอะไรในเนื้อหาตอนนี้ที่พูดถึงความตกต่ำของเขาไปเรื่อยๆ? เคยมีสักครั้งไหมที่คุณรู้สึกว่าชีวิตตัวเองหมุนเคว้งจนเอาไม่อยู่?  คุณเคยถูกนิสัยใจคอบางอย่างควบคุมไหม?

 

ในช่วงที่ข้าวยากหมากแพง เขากลับไม่มีรายได้เลย  ปกติเขาน่าจะมีงานทำ แต่เพราะการกันดารอาหาร งานจึงหายาก  ในเศรษฐกิจเชิงเกษตรอย่างในประเทศปาเลสไตน์นั้น หากเราไม่มีที่ดิน หรือเงินทอง อะไรๆก็อาจถึงขั้นอับจนจริงๆ เขาไปรับจ้าง (จริงๆคือ เขาไป “เกาะติด” ) คนที่ส่งเขาเข้าไปเป็นแรงงานรายวันในทุ่งนา  การอยู่ในภาวะขัดสนและต้องพึ่งพาคนอื่นในเรื่องอาหารการกินนั้นทำให้เขาต้องถ่อมตัวลง  และที่เลวร้ายสุด คือ เขาถูกใช้ให้ทำงานเลี้ยงหมูในเล้า  หมูเป็นสัตว์ที่คนยิวกินไม่ได้  ในข้อ 16 คำที่แปลมาเป็นคำว่า “ฝักถั่ว” เป็นฝักถั่วคารอบ  ครั้งหนึ่งรับบีอาชา (ราวค.ศ. 320) เคยกล่าวไว้ว่า “เมื่อใดที่ชาวอิสราเอลยากจนลงจนต้องกินฝักถั่วคารอบ เมื่อนั้นพวกเขาจะกลับใจ”  ต้นคารอบ (ชื่อวิทยาศาสตร์ เซราโทเนีย ซิลิควอ) เป็นพุ่มไม้ที่เขียวทั้งปี หรือเป็นพืชท้องถิ่นแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ปลูกไว้สำหรับกินฝัก

 

 

สำหรับชาวยิว ไม่เพียงแค่เลี้ยงหมู แต่แค่หิวจนต้องกินฝักถั่วคารอบที่หมูกินอยู่นั้น ก็เป็นภาพที่แสดงว่า ชีวิตชายคนนี้ตกต่ำถึงขีดสุด

 

บุตรชายคนเล็กรู้สำนึกและกลับใจใหม่

 

   17เมื่อเขารู้สำนึกตัวแล้ว จึงพูดว่า ลูกจ้างของพ่อไม่ว่าจะมีมากสักแค่ไหนก็ยังมีอาหารเหลือเฟือ แต่ข้ากลับ

 

   ต้องมาอดตายที่นี่ 18ข้าน่าจะลุกขึ้นไปหาพ่อ และพูดกับท่านว่า พ่อ ลูกผิดต่อสวรรค์และผิดต่อท่านด้วย 19ไม่

 

   สมควรจะได้ชื่อว่าเป็นลูกของพ่ออีกต่อไป ขอโปรดให้ลูกอยู่ในฐานะของลูกจ้างคนหนึ่งของท่านเถิด” ’20แล้ว

 

   เขาก็ลุกขึ้นไปหาบิดา แต่เมื่อเขายังอยู่แต่ไกล บิดาก็เห็นเขาและมีใจสงสาร จึงวิ่งออกไปกอดคอและจูบแก้ม

 

   ของเขา (ลูกา 15:17-20)

 

คำถามข้อที่ 3) ในการบรรยายถึงการตื่นรู้ของชายหนุ่มคนนี้ต่อความขัดสนของตนเอง พระเยซูใช้คำว่า “เมื่อเขารู้สำนึกตัว” (ข้อ 17) คำนี้หมายความว่าอย่างไรสำหรับคุณ  การกลับใจใหม่คืออะไร และคำไหนในเนื้อหาตอนนี้ที่บ่งบอกว่าเขากลับใจใหม่แล้ว?

 

เมื่อคนๆหนึ่งรู้สำนึก หรือดังที่ในพระคัมภีร์ฉบับคิงส์ เจมส์แปลไว้ว่า “เขาเริ่มรู้ตัว” บรรยายถึงการที่คนเราตื่นรู้ถึงความเป็นจริง  ที่ผ่านมาเขาไม่รู้เนื้อรู้ตัว แต่ตอนนี้เขารู้ตัวดีว่า ชีวิตของตนกลายเป็นอะไรไปแล้ว และเขาก็ตระหนักว่าตัวเองได้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่งและโง่เขลาเพียงใดมาตลอด  ซาโลมอนเขียนบอกไว้ในปัญญาจารย์ว่า “ใจมนุษย์ก็เต็มด้วยความชั่ว และความบ้าบออยู่ในใจเขาเมื่อมีชีวิต” (ปัญญาจารย์ 9:3) การมีชีวิตอยู่โดยไม่มีความสัมพันธ์กับพระเจ้านั้นเป็นความบ้าบอและโง่เขลา  เราล้อเล่นกับชีวิตนิรันดร์ของเรา โดยวางใจว่าความตายของเรายังมาไม่ถึงในวันนี้  แต่เราไม่รู้หรอกว่า แต่ละวันจะเกิดอะไรขึ้น  เราหมุนลำกล้องปืนแห่งจิตวิญญาณของเราวันต่อวัน โดยหวังว่าจะไม่มีลูกปืนในลำกล้องที่จะคร่าชีวิตเราได้ ด้วยเหตุนี้ เราจึงถูกผลักไสไปสู่นิรันดร์กาลที่ปราศจากพระเยซูคริสต์  วันนี้เป็นวันแห่งความรอด แล้วทำไมจึงจะไม่ตอบคำถามนี้เสียในวันนี้ จะผลัดไปอีกวันทำไมเล่า “เพราะว่า ผู้ที่ร้องออกพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะรอด” (โรม 10:13)

 

โสเครตีสเป็นผู้กล่าวไว้ว่า “ชีวิตที่ไม่มีการตรวจสอบ ก็ไม่คุ้มค่าที่จะมีชีวิตอยู่”  เมื่อลูกชายคนเล็กตกต่ำถึงขีดสุด   ทางเดียวที่เขาจะมองไปได้ คือ แหงนหน้าขึ้น  เขาเริ่มสำรวจชีวิตตัวเอง ใคร่ครวญดูว่าเขาพาตัวเองมาอยู่ในจุดต่ำสุดแบบนี้ได้อย่างไร  การพิจารณาใคร่ครวญ คือ การมองกลับเข้าไปในตัวเอง เพื่อเปรียบเทียบสิ่งต่างๆ และตั้งใจแก้ไขสิ่งผิดพลาด  สภาพจิตใจเช่นนี้เองถือเป็นพระคุณของพระเจ้า  ทว่า การคิดใคร่ครวญดังกล่าวมิใช่การกลับใจใหม่  การคิดใคร่ครวญและสำนึกผิดควรจะนำเราไปสู่การกลับใจใหม่  ชายหนุ่มคนนี้สำรวจจริยธรรมต่างๆในชีวิตตัวเอง  คนเราจะหันเหชีวิตของตนไม่ได้ จนกว่าเขาจะเห็นเต็มตาว่า คุณธรรมของตนนั้นใช้ไม่ได้ และอยู่ในสภาพที่ไร้ค่า  บ่อยครั้ง เมื่อเรามาถึงจุดที่แตกสลายไม่มีชิ้นดีนี่เองที่ทำให้เรามีค่ายิ่งต่อพระผู้ช่วยให้รอดของโลกนี้  จอห์น ฟลาเวลกล่าวไว้ดังนี้ “พระคริสต์จะไม่หอมหวาน จนกว่าเราจะรู้รสขมจากบาปเสียก่อน”

 

ลูกชายคนเล็กเริ่มคิดอยากกลับบ้าน และคิดว่าเขาจะพูดอย่างไรดีเพื่อขอโทษและจะได้ถูกรับกลับไปอยู่บ้านเหมือนเดิม  เขารู้ว่าเขาไม่มีสิทธิ์ใดๆอีกแล้ว  อีกทั้งยังต้องเผชิญกับความอับอายและการดูถูกเหยียดหยามของคนในหมู่บ้านและพี่ชายคนโต  เขาสิ้นเนื้อประดาตัวไม่เหลือตำแหน่งใดๆ และตอนนี้เขาก็พร้อมจะเป็นแค่คนรับใช้ของพ่อ  ผมสังเกตว่าเขาไม่ได้เอ่ยพระนามของพระเจ้า แต่กลับใช้ถ้อยคำนี้แทน “ผมทำบาปต่อสวรรค์” สำหรับคนยิวจำนวนมาก พระนามของพระเจ้าบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด  ตอนที่ผมอาศัยอยู่ในอิสราเอล ผมมักได้ยินคำว่า ฮาเชมอาโดนาย (พระนามของพระเจ้า) ถูกนำมาใช้แทนคำว่าพระเจ้าในภาษาฮีบรู  เป็นไปได้ที่ตอนนี้เด็กหนุ่มคนนี้ไม่เพียงแต่เคารพยำเกรงพระเจ้าและสิ่งต่างๆในนิรันดร์เท่านั้น แต่ยังเคารพบิดาของตนเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นผู้ที่รักเขามาก

 

การกลับใจใหม่ไม่ใช่แค่รู้สึกเสียใจต่อบาปของตน แต่เป็นการเปลี่ยนความคิดและวิถีชีวิต  ตราบใดที่คนๆหนึ่งยังไม่เริ่มเดินไปยังบ้านพระบิดา เขาก็ยังแค่รู้สึกสำนึกผิดในใจเท่านั้น แต่เด็กหนุ่มคนนี้ได้เตรียมคำพูด และตั้งใจมั่นว่า เขาจะรับใช้พ่อของตนโดยการเป็นลูกจ้างรายวันในทุ่งนาของพ่อ  ถ้อยคำที่ว่า “เขาลุกขึ้นและไปหาบิดา” (ข้อ 20) บรรยายถึงการกลับใจใหม่ของเขา ต้องมีการลงมือปฏิบัติจริง ไม่ใช่แค่คำพูดลอยๆ  ซึ่งแสดงถึงเจตจำนงของคนๆนั้นด้วย

 

คำถามข้อที่ 4) ถ้าคุณไม่เคยได้ยินเรื่องนี้มาก่อน คุณสันนิษฐานว่า จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปเมื่อบุตรชายกลับบ้าน?  คุณคิดว่า ผู้ฟังของพระเยซูในวันนั้นจะคาดหวังไหมว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับลูกชายที่กลับมานั้น คือ เขาจะได้รับการยอมรับกลับเข้าบ้านพ่อ?

 

เมื่อเรื่องถึงตอนนี้ ผู้ฟังทุกคนต่างก็ทึ่งกับความอัปยศอดสูที่บุตรชายนำมาสู่บิดา ครอบครัว และบ้านเมืองที่เขาเคยอยู่อาศัย  ในความคิดของผู้ฟัง พวกเขาคงกำลังสงสัยว่า ลูกชายจะได้รับโทษทัณฑ์อะไรจึงจะสาสมกับการกบฏดื้อรั้นของเขา  ในหัวของพวกฟาริสีคงมีแต่ความคิดจะลงโทษสารพัดวิธีเพื่อหยุดยั้งมิให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก แต่แทนที่จะได้ยินถ้อยคำประณามหยามหมิ่นตามที่คาดไว้  ถ้อยคำถัดมาของพระเยซูทำให้พวกเขาอึ้งไปเลย

 

บิดาผู้ฟุ่มเฟือย

 

แต่เมื่อเขายังอยู่แต่ไกล บิดาก็เห็นเขาและมีใจสงสาร จึงวิ่งออกไปกอดคอและจูบแก้มของเขา 21บุตรคนนั้น

 

   จึงกล่าวกับบิดาว่า ‘พ่อ ลูกผิดต่อสวรรค์และผิดต่อท่านด้วย ไม่สมควรจะได้ชื่อว่าเป็นลูกของพ่ออีกต่อไป’ 

 

   22แต่บิดาสั่งพวกบ่าวของตนว่า ‘จงรีบไปเอาเสื้อที่ดีที่สุดออกมาสวมให้เขา เอาแหวนมาสวมที่นิ้วมือ และเอา

 

   รองเท้ามาสวมให้ด้วย 23และจงไปเอาลูกวัวตัวที่อ้วนพีมาฆ่าเลี้ยงกันเพื่อความรื่นเริง 24เพราะว่าลูกของเรา

 

   คนนี้ตายแล้วแต่กลับเป็นขึ้นอีก หายไปแล้วแต่ได้พบกันอีก’ พวกเขาต่างก็มีความรื่นเริง (ลก. 15:20-24)

 

พวกฟาริสีคิดว่า บิดาคนนี้ทำตัวน่าขายหน้า  ในอิสราเอลไม่ต้องการหมู และพระเยซูตรัสว่า บุตรชายได้ไปยังเมืองไกล (ข้อ 13)  ดังนั้น เขาอาจจะไปอยู่ท่ามกลางคนต่างชาติ (ไม่ใช่ชาวยิว) ในประเทศเพื่อนบ้าน  ไม่ว่าเขาจะไปอยู่ที่ไหน เราก็อนุมานได้ว่า เขาอยู่ไกลบ้านมาก  บิดาผู้นี้เป็นเหมือนภาพของพระเจ้าพระบิดาที่เฝ้ารอคอยและมองหาบุตรขายที่อยู่ไกลบ้านมาก  เมื่อพ่อคนนี้มองเห็นลูกชายมาแต่ไกล พ่อไม่มีความโกรธแค้นต่อบาปของลูกชายเลย ความรู้สึกเดียวที่พ่อมี คือ ความเมตตาสงสาร

 

ในเวปไซด์ Dictionary.com บอกว่า ความเมตตาสงสารเป็นความรู้ซึ้งถึงความทุกข์ของอีกฝ่าย ควบคู่กับความปรารถนาที่อยากปลดเปลื้องทุกข์นั้น  ทันทีที่บิดาเห็นบุตรชายของตน เขาก็ดึงชายเสื้อคลุมรีบวิ่งไปหาบุตรชาย  ในตะวันออกกลาง นี่เป็นสิ่งที่หัวหน้าครอบครัวผู้อาวุโสไม่ทำกัน  ผู้คนในสมัยนั้นไม่เคยให้ใครเห็นขา มีแต่ในกรณีฉุกเฉิน หรือในการต่อสู้กันเท่านั้นที่ผู้ชายจะเหน็บชายเสื้อเข้าไปไว้ที่เข็มขัด เพื่อจะขยับแข้งขาได้สะดวกขึ้น  ทุกคนคงต้องคิดว่า พฤติกรรมของพ่อนี้เป็นสิ่งน่าอับอายขายหน้า  ทุกคนจึงเริ่มสงสัยว่า พระเยซูจะจบเรื่องนี้อย่างไร  เพราะไม่มีพ่อคนไหนจะทำแบบนั้น  แต่พ่อคนนี้เจ็บปวดแทนลูกชายขณะที่ลูกอยู่ไกลบ้าน

 

พ่อเฒ่าพร้อมจะยกโทษให้จนไม่เปิดโอกาสให้ชายหนุ่มพูดสิ่งที่เขาเตรียมมาด้วยซ้ำ  พ่อยอมรับลูกชายคนเล็กก่อนที่เขาจะบอกความในใจออกมาเสียอีก  เรื่องนี้บรรยายถึงบิดาที่หลงรักลูกชายมากๆ  ในพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษฉบับคิงส์ เจมส์กล่าวว่า “เขากอดรัดฟัดเหวี่ยง แล้วจูบลูกชาย”  ไวยากรณ์ในภาษากรีกต้นฉบับนี้บอกว่า เขาจูบลูกชายไม่หยุด จูบแล้วจูบอีก จูบเหลือเฟือโดยไม่ยั้งเลย  ในใจพ่อไม่ได้คิดถึงกลิ่นเหม็นสาบหมูที่ยังติดตัวลูกชายมาเลย  เขาแค่ดีใจเหลือเกินที่เจอลูกชาย!  พ่อได้แสดงออกถึงความเมตตากรุณาอย่างชัดเจนก่อนที่ลูกจะแสดงว่ากลับใจใหม่แล้วเสียอีก  ถ้อยคำเหล่านี้พูดถึงความเมตตากรุณาของพระเจ้า และความพร้อมของพระองค์ที่อยากคืนดีกับผู้คนเหล่านั้นที่ถูกพรากไปจากความรักของพระองค์  ผมมั่นใจว่า ในที่สุด ชายหนุ่มก็ละล่ำละลักสิ่งที่เขาเตรียมไว้ออกมาจนได้พลางสะอึกสะอื้นว่า พ่อ ลูกผิดต่อสวรรค์และผิดต่อท่านด้วย ไม่สมควรจะได้ชื่อว่าเป็นลูกของพ่ออีกต่อไป” (ข้อ 21)แต่พ่อก็ตัดบท แล้วบอกให้บ่าวที่ตามมาด้วยไปนำเอาข้าวของบางอย่างมา

 

คำถามข้อที่ 5) ตอนที่พระเยซูเล่าคำอุปมานี้ ทำไมพระองค์ถึงให้พ่อวิ่งไปหาลูกชาย  นี่สะท้อนถึงพระลักษณะของพระเจ้าด้านใด?  ของสามอย่างที่นำมาให้ลูกชาย คือ อะไร และคุณคิดว่า ของเหล่านี้เป็นตัวแทนของอะไรสำหรับเราในฐานะคริสเตียน?

 

พวกบ่าวได้รับคำสั่งให้ไปเอา “เสื้อคลุมยาวที่ดีที่สุด” มา  ในเนื้อหาภาษากรีกตรงนี้ย้ำถึงสองครั้ง เช่น เสื้อคลุมยาว เสื้อคลุมยาวตัวสำคัญนั้น  ตรงนี้เราไม่ได้พูดถึงเสื้อโค้ท  เสื้อคลุมยาวนี้พูดถึงการที่ลูกชายได้กลับคืนสู่ตำแหน่งอันทรงเกียรติ มันพูดถึงเสื้อคลุมแห่งความชอบธรรมที่ปกคลุมบาปอันเหม็นสาบเหมือนเล้าหมูหมดสิ้น  ส่วนแหวนหมายถึงสิทธิอำนาจและการมอบอำนาจ  ในสมัยนั้นจะใช้แหวนเซ็นเอกสารทางการ  บ่อยครั้งแหวนมักจะมีรูปสลักอยู่ ซึ่งเมื่อจุ่มลงบนขี้ผึ้งร้อนๆ จะถือเป็นตราประทับอย่างเป็นทางการของครอบครัว  โยเซฟได้รับแหวนแบบนี้จากฟาโรห์ ตอนที่เขาได้เลื่อนตำแหน่งให้เป็นผู้บัญชาการของอียิปต์รองจากฟาโรห์หลังจากตีความฝันให้ฟาโรห์แล้ว (ข้อ 41:42)

 

เราเองก็ได้รับสิทธิอำนาจและการมอบอำนาจจากพระเจ้าให้ทำงานของพระคริสต์ (มธ. 28:18-20) ลูกชายได้รับรองเท้า  ไม่มีทาสคนใดเคยใส่รองเท้า และบิดาก็จะไม่ยอมให้บุตรชายเดินเท้าเปล่า  เขาเป็นลูกชาย ไม่ใช่ทาส เท้าของพวกเราสวมใส่ข่าวประเสริฐแห่งสันติสุข (อฟ. 6:15) และเราถูกทำให้เป็นบุตรของพระเจ้า (1 ยน. 3:2) บ่าวได้รับคำสั่งให้ฆ่าวัวอ้วนพีสำหรับวันนี้  พ่อได้ค่อยๆขุนลูกวัวเอาไว้ เพราะรู้ว่า สักวันหนึ่งเขาจะได้เลี้ยงฉลองเมื่อลูกชายคนนี้กลับมาบ้าน ทั้งหมดนี้เป็นของประทานแห่งพระคุณที่ให้อย่างล้นเหลือกับทาสที่กลับมาบ้านและได้คืนสู่สถานะความเป็นลูก

 

เมื่อพระเยซูกำลังบรรยายถึงการกลับบ้านของลูกชาย ผมคิดว่าพระองค์กำลังมองไปที่คนบาปและพวกคนเก็บภาษีทั้งหลายด้วยรอยยิ้มแห่งการยอมรับอันอบอุ่นบนใบหน้า แต่เมื่อเริ่มพูดถึงลูกชายคนโต พระองค์ก็หันมาหาพวกฟาริสีและธรรมาจารย์

 

บุตรชายคนโต

 

25ส่วนบุตรคนโตนั้นอยู่ที่ทุ่งนา เมื่อเขากลับมาใกล้จะถึงบ้าน ก็ได้ยินเสียงดนตรีและการเต้นรำ 26เขาจึงเรียก

 

บ่าวคนหนึ่งมาถามว่า ‘นี่มันอะไรกัน?’ 27บ่าวจึงตอบว่า ‘น้องของท่านกลับมาแล้ว และพ่อของท่านให้ฆ่าลูก

 

วัวตัวที่อ้วนพีเพราะท่านได้ลูกกลับมาอย่างปลอดภัย’ 28พี่ชายก็โกรธไม่ยอมเข้าไป บิดาจึงออกมาชวนเขา 29

 

  แต่เขาบอกบิดาว่า ‘พ่อ ดูซิ ลูกรับใช้พ่อมากี่ปีแล้ว และไม่เคยละเมิดคำบัญชาของพ่อสักข้อหนึ่ง แต่พ่อก็ไม่

 

เคยให้แม้แต่ลูกแพะสักตัวหนึ่งแก่ลูก เพื่อเลี้ยงฉลองกับเพื่อนฝูง 30แต่กับลูกคนนี้ของพ่อซึ่งผลาญสมบัติของ

 

พ่อด้วยการคบกับพวกหญิงโสเภณี พ่อกลับฆ่าลูกวัวอ้วนพีเพื่อเลี้ยงมัน’ 31บิดาจึงตอบว่า ‘ลูกเอ๋ย ลูกอยู่กับ

 

พ่อตลอดเวลา สิ่งของทั้งหมดของพ่อก็เป็นของลูกอยู่แล้ว 32แต่นี่เป็นเรื่องสมควรที่เราจะชื่นชมยินดีและรื่น-

 

เริง เพราะน้องคนนี้ของลูกตายไปแล้วแต่กลับเป็นขึ้นอีก หายไปแล้วแต่ยังได้พบกันอีก’ ” (ลก. 15:25-32)

 

ผู้นำศาสนาเหล่านี้หยิ่งทะนงหลงคิดว่า ตนเป็นตัวแทนของผู้ที่มีชีวิตอยู่เพื่อพระเจ้า เมื่อพระเยซูหันไปหาพวกเขา และบรรยายถึงท่าทีของลูกชายคนโต คุณไม่คิดว่า พวกเขาจะเริ่มมองเห็นตัวเองในกระจกบ้างหรือ?

 

คำถามข้อที่ 6) คุณคิดว่าเรื่องพี่ชายคนโตมีอะไรที่โดดเด่นบ้าง?  คำพูดและการกระทำของเขาเผยให้เห็นอุปนิสัยแบบไหนของเขา?

 

สิ่งแรกที่เราอ่านเจอ คือ พี่ชายคนโตออกไปอยู่ในทุ่งนา เป็นคำเปรียบเปรยว่าอยู่ไกลจากบิดา  บอกให้รู้ว่าเขาไม่รู้เรื่องว่าน้องชายกลับมาบ้านแล้ว  พ่อไม่ได้ส่งใครออกไปบอกเขาที่ทุ่งนาว่ากำลังจะมีงานเลี้ยงฉลอง  เพราะพ่อรู้ว่าพี่ชายคนโตไม่สนใจใยดีน้องชายแม้แต่น้อย แถมเขาจะโกรธด้วยซ้ำถ้ารู้ว่าน้องกลับมาแล้ว  พ่อจึงจงใจเก็บเรื่องนี้ไว้ไม่บอกลูกชายคนโต เพราะลูกชายคนโตไม่มีความสัมพันธ์กับพ่อ ซึ่งพ่อก็รู้ว่าเขาดูหมิ่นน้องชาย

 

หลายครั้งที่พ่อออกไปตามหาลูกชายคนเล็ก พี่ชายก็ไม่เคยสนใจ  ถ้าเกิดพี่ชายเห็นลูกชายคนเล็กระหว่างเดินทางกลับบ้าน เขาก็คงขับไสไล่ส่งน้องออกไปอีกก่อนที่น้องจะได้เห็นหน้าพ่อด้วยซ้ำ  เราแทบจะได้ยินเสียงลูกชายคนโตพูดว่า “แกไม่รู้ตัวหรือว่า แกทำให้พ่อและครอบครัวอับอายแค่ไหน? ไอ้ตัวเหม็น! พ่อโกรธแกมาก อย่าบังอาจกลับมาบ้านเชียวหลังจากที่แกทำเรื่องแบบนั้นลงไป!” คำพูดเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ซาตานกระซิบใส่หูเราเมื่อเราเริ่มคิดจะกลับบ้านพ่อ  พวกเราทั้งหลายที่เป็นพ่อแม่ก็เรียนรู้ได้มากมายจากข้อพระคัมภีร์เหล่านี้เกี่ยวกับการพาลูกๆของเรากลับมาหาพระเจ้า

 

เมื่อสิ้นสุดวันจากการทำงานอันแสนเหน็ดเหนื่อย ลูกชายคนโตก็กลับมาบ้าน แล้วก็ต้องแปลกใจที่ได้ยินเสียงดนตรีและงานเลี้ยงรื่นเริงที่กำลังดำเนินอยู่  เขาสงสัยขึ้นมาทันทีและไม่ยอมเข้าไปในบ้าน  คนเคร่งศาสนาจะระแวงคนเหล่านั้นที่มีความสุขแท้จริงกับความสัมพันธ์อันดีกับพระบิดา  เขาไม่ยอมเข้าไป แต่กลับถามเอาจากบ่าวคนหนึ่งว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นในบ้าน  แล้วก็พบคำตอบจากบ่าวว่า ‘พ่อของท่านให้ฆ่าลูกวัวตัวที่อ้วนพีเพราะท่านได้ลูกกลับมาอย่างปลอดภัย’ (ข้อ 27) วัวพิเศษตัวนี้ที่พ่อเตรียมขุนมาหลายเดือนได้ถูกเชือด เสียบเหล็กย่างไฟ แล้วแบ่งเป็นชิ้นๆแจกให้กับเพื่อนฝูง และเพื่อนบ้านมากมายที่มาร่วมฉลองกันแล้ว

 

เมื่อเล่ามาถึงตรงนี้ ในที่สุดพวกฟาริสีก็เริ่มเข้าใจความหมายของเรื่องนี้ขึ้นมาบ้าง  พวกเขาได้ยินถึงความโกรธของลูกชายคนโตที่พ่อยอมรับลูกชายคนเล็ก  พวกเขาอาจจะรู้สึกว่า ก็ถูกแล้วที่ลูกชายคนโตจะมีท่าทีแบบนั้นกับพ่อ พวกฟาริสีที่อยู่ในฝูงชนคาดหวังว่า บิดาจะเห็นความประพฤติอันน่าอับอายของตนที่ยอมให้ลูกชายคนเล็กกลับบ้านโดยไม่ลงโทษแต่อย่างใด  อย่างไรก็ตาม ก็หวังว่าพวกเขาแต่ละคนจะเริ่มมองเห็นว่า ลูกชายคนโตก็ถูกพรากไปจากบ้านและพ่อเหมือนกัน เพราะท่าทีของเขาเอง  ในฉบับแปลบางฉบับก็มีคำนั้นอีก เช่น พ่อได้ลูกกลับคืนมาอย่างปลอดภัย และพ่อก็ต้อนรับเขาด้วยความดีใจ  ตามที่กล่าวไว้ในฉบับแปลภาษาอังกฤษบางฉบับ  ซึ่งเป็นถ้อยคำที่เตือนให้พวกฟาริสีนึกถึงคำพูดของตัวเองในตอนต้นของอุปมาทั้งสามเรื่องที่ว่า “ชายคนนี้รับเอาพวกคนบาปและพวกคนเก็บภาษี” (ลก. 15:2)  ทุกคนที่กำลังฟังเรื่องราวเหล่านี้เริ่มเข้าใจ  อุปมาเหล่านี้เป็นเรื่องของพวกเขาแต่ละคน ตลอดจนพระคุณอันอัศจรรย์ของพระเจ้าที่ไม่ใช่มีสำหรับพวกฟาริสีที่ไม่มีพระเจ้าเท่านั้น แต่ยังมีต่อคนบาปและคนเก็บภาษีด้วย

 

พี่ชายหยิ่งทะนงและใช้คำพูด เช่น “ข้า” “ตัวข้า” “ของข้า” ค่อนข้างมากในข้อพระคัมภีร์ไม่กี่ข้อนี้  ในหนังสืออรรถาธิบายพระคัมภีร์ลูกาของวิลเลียม บาร์เคลย์ กล่าวไว้ว่า:

 

  1. ท่าทีของเขาแสดงให้เห็นว่า ตลอดหลายปีที่เขาเชื่อฟังพ่อมา มันเป็นช่วงเวลาที่ถือเป็นหน้าที่อันเข้มงวด ไม่ใช่การปรนนิบัติด้วยใจรัก

 

  1. ท่าทีของเขานั้นแล้งน้ำใจและขาดความเห็นอกเห็นใจอย่างที่สุด  เขาไม่ได้เรียกน้องชายว่า น้องชายของผม แต่กลับเรียกว่า “ลูกชายพ่อ2

 

พี่ชายคนโตไม่ยอมร่วมฉลองที่ได้พบลูกชายซึ่งหายไปและเหมือนตายจากไป แต่กลับมามีชีวิตอีกครั้ง กลับสู่ครอบครัวอีกครั้ง  เขาไม่ยอมรับน้องชายอย่างสิ้นเชิง เหมือนที่พวกฟาริสีได้ทำต่อพี่น้องชายหญิงชาวอิสราเอลซึ่งเป็น “คนบาป”  เขามิได้แสดงความรัก ความห่วงใยแบบที่พ่อมีเลย  ความในใจของเขาทะลักออกมาให้พ่อรับรู้ว่า  29แต่เขาตอบบิดาว่า ‘พ่อ ดูซิ ลูกรับใช้พ่อมากี่ปีแล้ว และไม่เคยละเมิดคำบัญชาของพ่อสักข้อหนึ่ง (ข้อ 29)  สิ่งที่เราได้ยินจากคำพูดของเขา คือ เขาได้ทำงานเยี่ยงทาสมาตลอดหลายปีนี้ เพื่อพยายามจะได้รับในสิ่งซึ่งบิดาให้เขาเปล่าๆ นั่นคือ มรดกของพ่อ  เหตุใดเขาถึงต้องทำงานเยี่ยงทาสมาตลอด?  นี่ก็เป็นท่าทีในใจของพวกฟาริสีที่กำลังฟังถ้อยคำของพระเยซูอยู่  คุณไม่สามารถเอาใจพระเจ้าได้โดยทำตามระบบการงานที่ขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ต่างๆได้!  “ไม่มีความเชื่อแล้ว จะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าก็ไม่ได้เลย (ฮบ. 11:6) พวกฟาริสีรู้สึกว่า ตัวเองมีที่ในสวรรค์ได้เพราะการทำดีของตน แต่พวกเขาไม่เข้าได้ใจถึงพระคุณพระเจ้าเลย  ทั้งยังคิดว่าตัวเองไม่ต้องการพระคุณและความเมตตากรุณา  ท่าทีของพวกเขา คือ พวกเขา “ไม่เคยละเมิดคำบัญชาของพ่อสักข้อหนึ่ง! แม้แต่เพียงลูกแพะสักตัวหนึ่งท่านก็ยังไม่เคยให้ข้าพเจ้า เพื่อจะเลี้ยงกันเป็นที่รื่นเริงยินดีกับเพื่อนฝูงของข้าพเจ้า

 

สำหรับพวกเราทั้งหลายที่เคยอยู่ในไร่ของพ่อมานานหลายปี เราเรียนรู้อะไรจากพี่ชายคนโตได้บ้าง?

 

เราต้องระวัง “การทำงานเยี่ยงทาส” ของพระบิดา (ข้อ 9)  การงานที่เราทำไม่ควรมาแทนที่ความสุขที่ได้อยู่ใกล้ชิดพระบิดา  เพราะท่าทีที่เป็นบาปของลูกชายคนโต จึงทำให้เขามีช่องว่าง เหินห่างจากพ่อ  ขณะที่พวกเขานั่งฟังถ้อยคำของพระเยซูอยู่ตรงนั้น ภาพของบุตรชายคนโตได้แสดงให้เห็นถึงท่าทีของพวกฟาริสีและธรรมาจารย์  พวกเขาดำเนินชีวิตประหนึ่งพระเจ้าเป็นหนี้พวกเขา เพราะพวกเขาใส่ใจทำตามทุกรายละเอียดของบัญญัติแม้แต่ข้อหยุมหยิมที่สุด  พระบิดายินดีเหลือล้นที่ได้รับลูกผู้หลงหายกลับบ้านฉันใด เราก็ควรจะยินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นบรรดาทาสบาปกลับมาหาพระบิดาฉันนั้น  เราควรหมั่นพากเพียรเพื่อจะได้เห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นกับคนรอบข้างเรา ตลอดจนผู้ที่อยู่ห่างไกลจากเราด้วย  ให้เรามีท่าทีการเฉลิมฉลองอยู่เสมอๆเมื่อมีผู้ใดผู้หนึ่งกลับบ้าน

 

เมื่อจู่ๆพระเยซูหยุดเล่าอุปมานั้นลงที่ข้อ 32 พวกเขาทุกคนต่างๆค้างคาใจ  คำถามใหญ่ที่พระองค์ทิ้งไว้ให้พวกเขาคิด คือ “แล้วลูกชายคนโตทำอย่างไร?”  เขากลับใจใหม่และขอโทษพ่อที่ทำตัวเหินห่างจากพ่อไหม?  เขาเข้าไปในงานเลี้ยงและเต็มใจยอมรับน้องชายกลับมาไหม?  พวกฟาริสีแต่ละคนเริ่มมองเห็นว่า ความสุขยินดีเหลือล้นของพระบิดา คือ การต้อนรับลูกๆกลับบ้านและเฉลิมฉลองด้วยกันตลอดนิจนิรันดร์  พระองค์จึงทิ้งท้ายไว้แค่นั้นให้พวกเขาและพวกเราด้วยที่จะจบเรื่องนี้เอง   เราจะกลับบ้านไปหาพระเจ้าและพระบิดาผู้เปี่ยมด้วยพระคุณและความเมตตากรุณาองค์นี้ไหม?

 

คำอธิษฐาน: พระบิดา ขอบคุณที่รับเรากลับบ้าน มาหาพระองค์ด้วยความชื่นชมยินดีและความรักอันล้นเหลือ ขอให้เราปฏิบัติต่อผู้อื่นแบบที่พระองค์ทำกับเราด้วยเถิด เอเมน

 

คลิกที่นี่เพื่ออ่านผลการเรียนภาษาไทยเพิ่มเติม

 

คีธ โทมัส

 

เวปไซด์: www.groupbiblestudy.com

 

อีเมล: keiththomas@groupbiblestudy.com

 

Keith Thomas
Website:
www.groupbiblestudy.com 

 

Email: keiththomas@groupbiblestudy.com

 

___________________________

 

2 William Barclay, The Daily Study Bible, the Gospel of Luke, Published by St. Andrews Press, Edinburgh, p. 206.

 

[1] Dictionary.com

bottom of page