top of page

9. The Seven Sayings From the Cross

สำหรับการศึกษาเพิ่มเติมในชุดนี้ คลิกที่นี่

‎9. เจ็ดประโยคจากบนกางเขน

 

พระกิตติคุณตามที่ยอห์นบันทึกไว้

 

เส้นทางแห่งความเจ็บปวด เส้นทางแห่งกางเขน

 

  16แล้วปีลาตก็มอบพระองค์ให้เขาไปตรึงที่กางเขน  พวกทหารจึงพาพระเยซูไป 17และพระองค์ทรงแบก

   กางเขนของพระองค์ไปยังที่ที่เรียกว่า กะโหลกศีรษะ ภาษาฮีบรูเรียกว่า กลโกธา 18ที่นั่นพวกเขาตรึง

   พระองค์ไว้ที่กางเขนพร้อมกับชายอีกสองคนคนละข้าง โดยมีพระเยซูทรงอยู่กลาง 19ปีลาตให้เขียน

   ป้ายติดไว้บนกางเขนอ่านว่า “เยซูชาวนาซาเร็ธ กษัตริย์ของพวกยิว” 20พวกยิวจำนวนมากได้อ่าน

   ป้ายนี้ เพราะที่ที่เขาตรึงพระเยซูนั้นอยู่ใกล้กับกรุง และป้ายนั้นเขียนเป็นภาษาฮีบรู ภาษาลาติน และ

   ภาษากรีก 21พวกหัวหน้าปุโรหิตของพวกยิวจึงเรียนปีลาตว่า “อย่าเขียนว่า ‘กษัตริย์ของพวกยิว’ แต่ให้

   เขียนว่า ‘คนนี้บอกว่า “เราเป็นกษัตริย์ของพวกยิว” ’ ” 22ปีลาตตอบว่า “อะไรที่เราเขียนแล้วก็แล้วไป”

   (ยน. 19:16-22)

 

ทันทีที่ปิลาตประกาศคำพิพากษาพระเยซู ทหารโรมันก็นำตัวพระองค์ไป บางทีพวกเขาอาจเอาตัวพระเยซูกลับเข้าไปในค่ายทหารโรมัน และคงได้มอบหมายให้กองทหารสี่นายไปตรึงพระองค์  จากนั้นก็เอาคานไม้กางเขนมามัดที่บ่าทั้งสองข้างของพระองค์ ตามที่มัทธิวบันทึกไว้ว่า “พวกเขานำพระองค์ออกไปตรึงที่กางเขน” (มธ. 27:31)  นี่เป็นเรื่องแปลกที่คนๆหนึ่งจะถูกนำตัวไปยังสถานที่ตรึงกางเขนแต่โดยดี เพราะปกติแล้วนักโทษมักจะต่อสู้ขัดขืนรุนแรงขณะถูกบังคับให้ไปยังสถานที่ตรึงกางเขนนั้น  แต่พระเยซูไม่ได้เป็นแบบนั้น นี่เป็นอีกครั้งที่พระองค์ทำให้พระคัมภีร์ข้อนี้เป็นจริงที่ว่า “ท่านถูกบีบบังคับและถูกข่มใจ...เหมือนลูกแกะที่ถูกนำไปฆ่า และเหมือนแกะที่เป็นใบ้ต่อหน้าผู้ตัดขนของมันเช่นใด ท่านก็ไม่ปริปากของท่านเลยเช่นนั้น” (อสย. 53:7) พระองค์ไม่ต่อสู้ขัดขืน แต่กลับเต็มใจเดินตามไปโดยดี

 

โดยทั่วไปแล้ว คนที่จะถูกตรึงกางเขนมักถูกแห่แหนไปตามเส้นทางอันยาวไกลที่สุดสู่สถานที่แห่งหนึ่งนอกกำแพงเมือง ที่ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่เดินเข้าออกประตูเมืองจะมองเห็นได้  บรรพบุรุษคริสตจักรยุคแรกๆรู้สึกว่า การที่อิสอักแบกฟืนที่อับราฮามพ่อของเขาจะเอาเขาไปเผาบูชาบนนั้นไป (ปฐก. 22:6) ถือเป็นสัญลักษณ์ถึงการแบกกางเขนของพระเยซู  นักโทษแต่ละคนที่ถูกตรึงกางเขนจะมีกองทหารสี่นายรักษาการณ์อยู่ด้านละคน  ส่วนหัวหน้าทหารโรมันจะเดินนำหน้าขบวนแห่ถือป้ายระบุเหตุผลการถูกตรึงกางเขน  การดำเนินคดีเช่นนี้จะสร้างความหวาดกลัวแก่ผู้คนที่ได้อ่านป้ายนั้น  เพื่อให้ทุกคนคิดทบทวนให้ดีก่อนจะตัดสินใจลงมือก่ออาชญากรรมทำนองเดียวกัน

 

มีเหตุผลสี่ประการที่ชาวโรมันใช้การตรึงกางเขนเป็นวิธีลงโทษแบบหนึ่ง 1) มันเป็นการตายที่ทรมานมาก  2) ขั้นตอนการตรึงกางเขนจะเป็นไปแบบช้าๆ 3) คนทั่วไปมองเห็นได้ และ 4) เป็นสิ่งที่น่าอับอายและใช้ยับยั้งอาชญากรรมและการกบฏได้ชงัด

 

ปีลาตสั่งให้เขียนป้ายคำว่า เยซูชาวนาซาเร็ธ กษัตริย์ของพวกยิว ในภาษาอาราเมค ละติน และกรีก พวกผู้นำชาวยิวพากันโกรธเคืองเรื่องนี้ และพยายามเปลี่ยนป้ายใหม่เป็นว่า พระเยซูเคยพูดไว้ว่า พระองค์เป็นกษัตริย์ของชาวยิว  ปีลาตจึงตอบพวกเขาว่า อะไรที่เราเขียนแล้วก็แล้วไป” (ยน. 19: 22)  ราวกับพระเจ้ากำลังพูดความจริงฝ่านปีลาต และไม่อนุญาตให้เปลี่ยนแปลงป้ายนั้น  แล้วมีป้ายเล็กๆระบุความผิดของนักโทษตอกอยู่บนกางเขนเหนือศีรษะ  แต่พระเยซูไม่ได้ทำผิดอะไรเลย  ปีลาตเองยังประกาศว่า เขาไม่พบความผิดใดๆในพระคริสต์ จึงแขวนป้ายสลักข้อความนี้ไว้บนไม้กางเขนของพระเยซูแทน เหมือนเป็นตลกร้ายเพื่อเยาะเย้ยชาวยิว  เราไม่รู้ถึงแรงจูงใจของปีลาตที่ให้เก็บป้ายนั้นไว้ตามที่เขียนไป แต่ความเป็นพระ-เจ้าของพระเยซูได้ถูกประกาศก้องออกไปจากบนกางเขนนั้น

 

ลานกะโหลก

 

  33เมื่อมาถึงที่หนึ่งซึ่งเรียกว่ากลโกธา แปลว่า ลานกะโหลก 34เขาทั้งหลายเอาเหล้าองุ่นผสมกับ

 

 ของขมมาถวายพระองค์ เมื่อพระองค์ทรงชิมแล้วก็ไม่เสวย (มธ.27:33-34)

 

สถานที่ตรึงกางเขนก็สำคัญเช่นกัน  เป็นไปได้ว่า สถานที่นี้น่าจะอยู่นอกประตูเมือง และใกล้ถนนที่มีผู้คนพลุกพล่านผ่านไปมา  พระเยซูคงจะได้ยินถ้อยคำดูหมิ่นเหยียดหยามของคนเหล่านั้น  ถ้าคุณไปเยรูซาเล็มวันนี้ คุณจะพบสถานที่มากกว่าหนึ่งแห่งซึ่งระบุว่า เป็น “กลโกธา” หรือ “คาลวารี” (หมายถึง ลานกะโหลก) เช่น เดอะ คาทอลิก เชิร์ช ออฟ เซพัลเคร และสุสานอีแวนเจลิคัล การ์เดน ทูม หรือกอร์ดอนส์ คาลวารี  ทั้งสองแห่งต่างมีหลักฐานตลอดจนคำอธิบายว่า ทำไมจึงตั้งชื่อสถานที่แบบนั้น  เหตุผลหนึ่ง คือ มีตำนานเล่าต่อๆกันมาว่า กะโหลกของอาดัมฝังอยู่ที่นั่น  เหตุผลที่สองที่ว่า น่าจะเป็นที่กอร์ดอนส์ คาลวารี ก็เพราะรูปทรงของทำเลที่ตั้งดูคล้ายกะโหลกศีรษะ  เหตุผลที่สามสำหรับชื่อกล-โกธา ก็เพราะมันเป็นสถานที่ที่เกลื่อนไปด้วยกะโหลกศีรษะของนักโทษซึ่งถูกตรึงกางเขน  คำอธิบายที่สามนี้ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะกฎหมายยิวคงจะไม่อนุญาตให้ทิ้งศพไว้ให้เน่าเปื่อยในที่โล่งแจ้งเช่นนั้น

 

ปกติวิธีตรึงกางเขนของชาวโรมันมักกินเวลาหลายวัน และพวกเขาจะปล่อยให้ร่างเปื่อยเน่าไปบนกางเขนเพื่อเป็นอุทาหรณ์เตือนใจผู้อื่น  แต่พระคัมภีร์ก็เรียกร้องให้ปลดศพเหล่านั้นลงจากต้นไม้เมื่อตะวันตกดิน (ฉธบ. 21:22-23) ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามถึงตั้งชื่อสถานที่แห่งนั้นให้น่ากลัวเช่นนั้น มันก็เป็นที่ที่อ้างว้างหดหู่อยู่ดี กล่าวคือ มันเป็นสถานที่แห่งการถูกปฏิเสธนอกชุมชนซึ่งสงวนไว้สำหรับการลงโทษ เป็นที่ที่ราชาแห่งฟ้าสวรรค์ได้สละพระองค์เองเพื่อเรา (ฮบ. 12:12-13) น่าสังเกตว่า ปุโรหิตผู้ได้รับการเจิมแห่งอิสราเอลต้องเผาเครื่องบูชาลบบาปของชนอิสราเอลให้หมดเกลี้ยง คือ เครื่องเผาบูชานอกค่ายนี่เอง (ลนต. 4:21)  นี่เป็นอีกจุดหนึ่งซึ่งเราเห็นถึงการทำนายล่วงหน้าที่ว่า พระคริสต์จะมาตายไถ่บาปแทนเราที่นอกประตูเมืองนั้น

 

ก่อนพวกเขาจะตอกตะปูแหลมหกนิ้วทะลุฝ่ามือและเท้าของพระองค์ พวกเขาได้ยื่นบางอย่างให้พระองค์ดื่ม มัทธิว 27:33-34 บอกเราว่า พระเยซูได้รับเหล้าองุ่นเปรี้ยว (น้ำส้มสายชู) ผสมกับน้ำขม นี่เป็นคำที่ใช้หมายถึงของ “ขมๆ”  มาระโกบอกเราว่า น้ำขมๆนั้น คือ มดยอบ (มก.15:23) เป็นสารเสพติดอ่อนๆ  เมื่อพระเยซูได้ชิม พระองค์บ้วนออกทันที  คุณคิดว่าทำไมพระองค์ถึงบ้วนมันออกมา?

 

หลายร้อยปีก่อนหน้า ผู้พยากรณ์ได้เขียนเรื่องผู้รับใช้พระเจ้าผู้ทนทุกข์เจ็บปวด ผู้ซึ่งจะทำให้ทุกอย่างสำเร็จเพื่อนำมนุษย์กลับมาคืนดีกับพระเจ้าอีกครั้ง  บางคนเชื่อว่า กษัตริย์ดาวิดเป็นผู้เขียนสดุดีบทที่ 69  ผู้เขียนได้พยากรณ์ว่า พระเมสสิยาห์จะได้รับเหล้าองุ่นเปรี้ยว (น้ำส้มสายชู) ผสมกับของขม

 

  19พระองค์ทรงทราบการที่เขาเยาะเย้ยข้าพระองค์ ทั้งความอับอายและความขายหน้าของข้า-

 

  พระองค์ทรงรู้จักคู่อริทั้งสิ้นของข้าพระองค์ 20การเยาะเย้ยทำให้ใจข้าพระองค์แตกสลาย พระองค์จึงล้ม

 

  ป่วย ข้าพระองค์มองหาความเห็นใจ แต่ก็ไม่มี หาผู้ปลอบโยน แต่ก็ไม่พบ 21พวกเขาให้ของขมเป็น

 

  อาหารของข้าพระองค์ ให้น้ำส้มสายชูแก่ข้าพระองค์ดื่มแก้กระหาย (สดด. 69:19-21

 

   จุดประสงค์ที่พระคริสต์มายังโลกนี้ก็เพื่อตายบนไม้กางเขนแทนมนุษย์ผู้บาปหนา  พระองค์ไม่ต้องการให้สิ่งใดมาปิดกั้นทุกความรู้สึกของพระองค์ในช่วงเวลาที่สำคัญยิ่งนี้  พระคริสต์มาเพื่อลิ้มรสความตาย นั่นคือ การถูกลงโทษแทนมนุษย์ทุกคนอย่างสาสม (ฮบ. 2:9)  เมื่อพระเยซูไม่ยอมรับมดยอบ ซึ่งเป็นสารเสพติดอ่อนๆ (มก.15:23) พวกเขาก็วางพระองค์ลงบนคานกางเขน แล้วเอาตะปูแหลมหกนิ้วตอกมือและเท้าของพระองค์  จิตรกรเอกหลายคนคิดว่า พระเยซูถูกตะปูตรึงที่ฝ่ามือ แต่เดี๋ยวนี้ จากเรื่องราวประวัติศาสตร์ของโรม เราจึงรู้ว่าตะปูเหล่านั้นถูกตอกตรึงผ่านกระดูกสองชิ้นเล็กๆที่ข้อมือ (กระดูกเรเดียลและอัลนาซึ่งเป็นกระดูกปลายแขนท่อนนอกและกระดูกปลายแขนด้านใน)  จากนั้นก็ยกคานกางเขนที่ตรึงพระเยซูไว้ขึ้น และเจาะเข้าไปกลางไม้กางเขนที่ตั้งอยู่  แล้วบรรดาทหารโรมันก็จะจับเท้าทั้งสองชิดเข้าหากัน งอขาเล็กน้อยก่อนจะตอกตะปูแหลมตัวหนึ่งทะลุส่วนที่ปกติเรียกว่า เอ็นร้อยหวาย

 

มีหลักฐานบางอย่างบ่งชี้ว่า ในบางกรณีก็ใช้ตะปูสี่ตัวตอกเข้าที่เท้าทั้งสองแยกกันตอนตั้งเสาขึ้น  จากนั้นก็จะวางไม้ชิ้นหนึ่งไว้ใต้เท้า เพื่อให้เหยื่อเอาเท้ายันลงมาได้อย่างเจ็บปวด และสูดหายใจเอาอากาศเข้าปอด  ขณะที่น้ำหนักตัวถูกแขวนอยู่กับตะปูเหล่านั้น ความเจ็บปวดก็คงสุดจะเหลือทน เพราะข้อมือจะกดทับเส้นประสาทมีเดียนซึ่งเป็นเส้นประสานกลางที่วิ่งลงมาตามแขนและปลายแขน  การปล่อยให้นักโทษหายใจด้วยวิธีนี้จะยืดเวลาตายไปอย่างช้าๆ

 

คราวนี้ เราลองมาพิจารณาเรื่องเวลาตายของพระองค์กัน  มันไม่ใช่เหตุบังเอิญที่การตายของพระเยซูเกิดขึ้นช่วงเทศกาลปัสกา  มันเป็นความคิดที่สะเทือนใจมากว่า ในเวลาเดียวกับที่พระเยซูกำลังเผชิญความตายอยู่นั้น ในวิหารซึ่งอยู่ห่างออกไปแค่ไม่ถึงกิโล มีลูกแกะปัสกามากมายทั่วเยรูซาเล็มกำลังถูกเชือดให้ชาวอิสราเอลได้รับประทานในพิธีปัสกาเย็นวันนั้น  โจซีฟัส นักประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า มีลูกแกะกว่า 256,000 ตัวถูกนำไปถวายบูชาในพิธีฉลองปัสกาในปี ค.ศ 66  การจะเตรียมลูกแกะมากมายขนาดนั้นได้ ปุโรหิตทุกคนก็คงจะง่วนอยู่กับงานของตนขณะที่พระเมษโปดก (ลูกแกะ) ของพระเจ้าถูกตรึงที่กางเขนเพื่อปัสกาที่แท้จริง  ในคืนนั้นลูกแกะมากมายถูกย่างรับประทานจนหมดทั้งตัวตามบ้านเรือน (อพย. 12:8-10) เราเองก็ต้องรับเอาพระเมษโปดกของพระเจ้าเข้ามาในชีวิตเช่นกัน (ยน. 1:12) และเข้าร่วมฝ่ายวิญญาณกับชีวิตพระเมษโปดกของพระเจ้าด้วย (ยน. 6:53)

 

กษัตริย์ดาวิดยังเป็นผู้พยากรณ์ด้วย พระองค์ได้บรรยายถึงเสี้ยวนาทีเหล่านี้ไว้เมื่อหลายร้อยปีก่อนหน้าขณะเขียนสดุดีบทที่ 22  บางคนเชื่อว่า พระคริสต์พูดถึงหนังสือสดุดีทั้งเล่มขณะถูกตรึงอยู่บนกางเขน  เรารู้ว่า พระองค์ท่องจำบางส่วนได้ และนี่คือข้อความที่ตัดตอนมาจากสดุดีบทที่ 22 :

 

1พระเจ้าข้า พระเจ้าข้า ไฉนทรงทอดทิ้งข้าพระองค์เสีย? เหตุใดพระองค์ทรงเมินเฉยต่อการช่วยกู้ข้า-

  พระองค์และต่อถ้อยคำคร่ำครวญของข้าพระองค์? 6ข้าพระองค์เป็นดุจตัวหนอน มิใช่มนุษย์คนก็เยาะ-

  เย้ย ประชาก็ดูหมิ่น 7ทุกคนที่เห็นข้าพระองค์ก็เย้ยหยัน เขาบุ้ยปากและสั่นศีรษะกล่าวว่า 8“เขา

  มอบตัวไว้กับพระยาห์เวห์ ให้พระองค์ช่วยเขาให้พ้นภัยสิ ให้พระองค์ช่วยกู้เขา เพราะพระองค์พอ

  พระทัยเขา” 12โคผู้มากมายล้อมข้าพระองค์ไว้ โคบึกบึนแห่งบาชานรุมล้อมข้าพระองค์ 13พวกศัตรูอ้า

  ปากกว้างเข้าใส่ข้าพระองค์ดั่งสิงห์ขณะกัดฉีกและคำรามร้อง 14ข้าพระองค์ถูกเทออกเหมือนอย่างน้ำ

  กระดูกทั้งสิ้นของข้าพระองค์เคลื่อนหลุดจากที่ ใจของข้าพระองค์ก็เหมือนขี้ผึ้งละลายภายในอก

15กำลังของข้าพระองค์เหือดแห้งไปเหมือนเศษหม้อดิน และลิ้นของข้าพระองค์ก็เกาะติดที่

  ขากรรไกร 16พวกสุนัขล้อมข้าพระองค์ไว้ คนทำชั่วกลุ่มหนึ่งโอบล้อมข้าพระองค์ พวกเขาแทงมือ

  แทงเท้าข้าพระองค์ 17ข้าพระองค์นับกระดูกของข้าพระองค์ได้ทุกชิ้น พวกเขาจ้องมองและยิ้มเยาะข้า-

  พระองค์ 18พวกเขาเอาของข้าพระองค์มาแบ่งกันส่วนเครื่องนุ่งห่มของข้าพระองค์นั้นเขาก็จับฉลากกัน   

  (สดด. 22:1, 6-8, 12-18).

 

คำพยากรณ์ในหนังสือสดุดีของกษัตริย์ดาวิดนี้พูดถึงการตรึงกางเขนของพระคริสต์ในด้านใดบ้าง? คุณเห็นอะไรที่คล้ายคลึงกัน?

 

เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ถูกตรึงกางเขนเหล่านั้นจะถูกจับแก้ผ้าล่อนจ้อน เพื่อให้อับอายยิ่งขึ้น แต่ก็เป็นไปได้ว่า ด้วยสติสัมปชัญญะของคนยิวจึงยอมให้เหลือผ้าเตี่ยวไว้ชิ้นหนึ่งบนร่างกายของพระเยซู

 

   23เมื่อพวกทหารตรึงพระเยซูไว้ที่กางเขนแล้ว พวกเขาก็เอาเสื้อของพระองค์มาแบ่งออกเป็นสี่ส่วน ให้

  ทหารคนละส่วน เว้นแต่เสื้อใน เสื้อในนั้นไม่มีตะเข็บ ทอเป็นผืนเดียวตลอด 24เพราะฉะนั้นพวกเขาจึง

  ปรึกษากันว่า “เราอย่าฉีกแบ่งกันเลย แต่ให้เราจับฉลากกัน จะได้รู้ว่าใครจะได้เป็นเจ้าของ” ทั้งนี้เพื่อให้

  เป็นจริงตามข้อพระคัมภีร์ที่ว่า “เสื้อผ้าของข้าพระองค์ เขาแบ่งกันและเสื้อของข้าพระองค์เขาจับฉลาก

  กัน” พวกทหารทำกันอย่างนี้ 25คนที่ยืนอยู่ข้างกางเขนของพระเยซูนั้นมีมารดากับน้าสาวของพระองค์

  มารีย์ภรรยาของเคลโอปัสและมารีย์ชาวมักดาลา 26เมื่อพระเยซูทอดพระเนตรเห็นมารดาของพระองค์

  และสาวกคนที่พระองค์ทรงรักยืนอยู่ใกล้พระองค์ จึงตรัสกับมารดาของพระองค์ว่า “หญิงเอ๋ย นี่คือบุตร

  ของท่าน” 27แล้วพระองค์ตรัสกับสาวกคนนั้นว่า “นี่คือมารดาของท่าน” แล้วสาวกคนนั้นก็รับมารดาของ

  พระองค์มาอยู่ในบ้านของตนตั้งแต่เวลานั้น 28หลังจากนั้นพระเยซูทรงทราบว่าทุกสิ่งสำเร็จแล้ว และ

  เพื่อให้เป็นจริงตามข้อพระคัมภีร์ พระองค์จึงตรัสว่า “เรากระหายน้ำ” 29ที่นั่นมีภาชนะใส่เหล้าองุ่น

  เปรี้ยววางอยู่ พวกเขาจึงเอาฟองน้ำชุบเหล้าองุ่นเปรี้ยวใส่ปลายไม้หุสบ ชูขึ้นให้ถึงพระโอษฐ์ของ

  พระองค์ 30เมื่อพระเยซูทรงรับเหล้าองุ่นเปรี้ยวแล้ว พระองค์ตรัสว่า “สำเร็จแล้ว” และก้มพระเศียรลง

  สิ้นพระชนม์ (ยน. 19:23-30)

 

นายทหารทั้งสี่ที่นำตัวพระเยซูไปยังกลโกธาได้รับอนุญาตให้เก็บเสื้อผ้าและรองเท้าแตะของเหล่านักโทษไว้ได้ แต่พวกเขากลับทอดลูกเต๋าจับฉลากกันแย่งเสื้อชั้นในซึ่งเป็นผ้าทอผืนเดียวแบบไร้ตะเข็บของพระเยซูกัน (ยน. 19:23) เพราะถ้าจะฉีกเสื้อชั้นในตัวนั้นแบ่งกันย่อมทำให้เสียเปล่า  พวกเขาจึงจับฉลากกัน  การจับฉลากแย่งเสื้อที่ไร้รอยต่อของพระคริสต์นี้ไปครองเป็นไปตามที่กษัตริย์ดาวิดพยากรณ์ไว้เมื่อหลายร้อยปีก่อน (สดด. 22:18)  ยอห์นจึงชี้ขวนให้เราหันมาสนใจเสื้อชั้นในไร้ตะเข็บซึ่งพวกทหารพากันจับฉลากแย่งกันนี้  บางทีเรื่องนี้อาจทำให้ยอห์นคิดถึงเครื่องแต่งกายของปุโรหิตหลวง ซึ่งไร้รอยต่อเช่นกันก็เป็นได้  โจซีฟัส นักประวัติศาสตร์สมัยนั้นได้เขียนเรื่องเครื่องแต่งกายของปุโรหิตหลวงไว้ดังนี้: “เสื้อคลุมนี้มิได้ทำจากผ้าสองชิ้น ทั้งไม่มีการเอาผ้ามาเย็บต่อกันที่บ่าและด้านข้าง แต่เป็นเสื้อคลุมยาวทอเป็นผืนเดียวโดยเปิดช่องคอเสื้อไว้เท่านั้น"  พระคริสต์ ปุโรหิตหลวงของเราได้สวมชุดชั้นในแบบนี้ไปยังสถานที่ไถ่บาป

 

เจ็ดประโยคของพระคริสต์บนไม้กางเขน

 

ตอนนี้เราจะมาใคร่ครวญจ็ดประโยคสุดท้ายที่พระคริสต์พูดบนไม้กางเขนกัน  พระเยซูถูกตรึงพร้อมกับโจรอีกสองคน ซึ่งอยู่คนละข้างของพระองค์  พระองค์อยู่ตรงกลางราวกับว่า พระองค์ชั่วร้ายที่สุด  ปกติแล้วกางเขนที่อยู่ตรงกลางมักเป็นที่ของผู้ร้ายหัวโจก  นี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่คำพยากรณ์ซึ่งเขียนไว้เมื่อหลายร้อยปีก่อนหน้าได้เป็นจริงแล้ว

 

เพราะฉะนั้นเราจะแบ่งส่วนหนึ่งแก่เขาเช่นเดียวกับคนใหญ่โต และเขาจะแบ่งของริบกับพวกผู้ยิ่งใหญ่ เพราะเขาเทตัวของเขาลงถึงความมรณะ และถูกนับเข้ากับพวกคนทรยศ เขาเองแบกบาปของคนจำนวนมาก และเขาอ้อนวอนเพื่อพวกคนทรยศ (อสย. 53:12)

 

ดังที่คำพยากรณ์ข้างต้นกล่าวไว้ พระเยซูถูกแขวนอยู่ที่นั่นอย่างเจ็บปวดแสนสาหัส พลางอธิษฐานเผื่อคนเหล่านั้นที่รายล้อมและเฝ้าดูอยู่

 

ประโยคที่หนึ่ง: “พระบิดาเจ้าข้า ขอทรงยกโทษพวกเขา เพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร” (ลก. 23:34)

 

ความเมตตากรุณาที่พระองค์มีต่อเราจากถ้อยคำอธิษฐานเหล่านั้นช่างงดงามยิ่งนัก! ถ้าคุณเคยสงสัยในความรัก ความเห็นอกเห็นใจของพระเจ้า  คุณควรท่องจำถ้อยคำเหล่านั้นไว้  พระเมษโปดกของพระเจ้าผู้บริสุทธิ์ได้แบกบาปของเราไว้บนกายของพระองค์และขจัดมันทิ้งไปจนหมดสิ้น ทรงให้อภัยการละเมิดทั้งหลายของเรา 14พระองค์ทรงฉีกเอกสารหนี้ที่มีคำสั่งต่างๆ ซึ่งต่อสู้และขัดขวางเรา และทรงขจัดไปเสียโดยตรึงไว้ที่กางเขน” (คส. 2:13ข-14)

 

พระเยซูต้องต่อสู้เพื่อทุกลมหายใจของพระองค์โดยยันตัวเองขึ้นบนตะปูแหลมที่ตอกอยู่ในเท้า เพื่อจะไปเหยียบแผ่นไม้เล็กๆนั้น  ขณะที่พระองค์ดันตัวขึ้น บาดแผลที่เปิดอ้าอยู่บนแผ่นหลังก็ครูดเข้ากับแท่งไม้ที่ตั้งอยู่  ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน เราก็มองเห็นได้ถึงการลงโทษอันเจ็บปวดแสนสาหัส  ทั้งแผ่นหลังและแทบทั้งตัวของพระองค์มีแต่เลือดอาบ  เลือดหยดลงมาจากหน้าผากที่สวมมงกุฎหนามอยู่ เลือดหยดลงมาจากมือและเท้าของพระองค์ และไม่ช้าก็มีเลือดกระเซ็นออกมาจากแผลที่เปิดอ้าตรงสีข้างขณะทหารเอาหอกแทงพระองค์ (ยน. 19:34)

 

ไม่นานนักพวกปากหอยปากปูทั้งหลายก็พากันมารายล้อม เปล่งเสี่ยงก่นด่าเย้ยหยันพระองค์:

 

   39คนทั้งหลายที่เดินผ่านไปมา พูดหมิ่นประมาทพระองค์ สั่นศีรษะเยาะเย้ย 40ว่า “เจ้าเป็นคนที่จะ

 

   ทำลายพระวิหารแล้วสร้างขึ้นภายในสามวันนี่นา จงช่วยตัวเองให้รอด ถ้าเจ้าเป็นพระบุตรของ

 

   พระเจ้า จงลงมาจากกางเขนเถิด” 41พวกหัวหน้าปุโรหิตกับพวกธรรมาจารย์และพวกผู้ใหญ่ก็เยาะ-

 

   เย้ยพระองค์เหมือนกันว่า 42เขาช่วยคนอื่นให้รอดได้ แต่ช่วยตัวเองไม่ได้ เขาเป็นกษัตริย์ของชน

 

   ชาติอิสราเอล ให้เขาลงมาจากกางเขนเดี๋ยวนี้เถิด เราจะได้เชื่อบ้าง 43เขาวางใจพระเจ้า ถ้า

 

   พระองค์พอพระทัยตัวเขาก็ขอให้ทรงช่วยเขาเดี๋ยวนี้เถิด เพราะเขากล่าวว่าเขาเป็นพระบุตรของ

 

   พระเจ้า (มธ. 27:39-43)

 

นี่เป็นอีกอย่างที่พระเจ้าบอกไว้ล่วงหน้าผ่านกษัตริย์ดาวิดผู้เผยพระวจนะ กล่าวคือ มีทายาทคนหนึ่งในพงศ์พันธ์ของดาวิดจะได้เป็นกษัตริย์ แต่เขาจะถูกมนุษย์ดูหมิ่นเหยียดหยาม  คำพยากรณ์เหล่านี้ถูกเขียนไว้เพื่อเป็นพยานถึงความแม่นยำของพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งได้พยากรณ์ไว้ล่วงหน้าหลายร้อยปีก่อนที่เหตุการณ์เหล่านั้นจะเกิดขึ้น เพื่อว่าเมื่อมันเกิดขึ้น เราจะตระหนักได้ถึงความจริงของพระคัมภีร์ และเชื่อในพระเจ้าและพระเยซู พระเมสสิยาห์ของพระองค์  นี่คือคำพยากรณ์ของกษัตริย์ดาวิดที่เกี่ยวข้องกับบรรดาผู้หมิ่นประมาทพระคริสต์ขณะพระองค์ทนทุกข์อยู่นั้น:

 

  7ผู้ที่เห็นข้าพระองค์ก็เย้ยหยัน เขาบุ้ยปากและสั่นศีรษะใส่ข้าพระองค์กล่าวว่า 8เขามอบตัวไว้กับพระเจ้า

  ให้พระองค์ทรงช่วยเขาสิ ให้พระองค์ช่วยเขา เพราะพระองค์ทรงพอพระทัยในเขา 12เหล่าโคผู้ล้อมข้า-

  พระองค์โคผู้แข็งแรงแห่งบาชานล้อมข้าพระองค์ไว้ 13มันอ้าปากกว้างเข้าใส่ข้าพระองค์ดั่งสิงห์ขณะกัด

  ฉีกและคำรามร้อง 16พระเจ้าข้า บรรดาสุนัขล้อมรอบข้าพระองค์ไว้ คนทำชั่วหมู่หนึ่งล้อมข้าพระองค์เขา

  แทงมือแทงเท้าข้าพระองค์ (สดด. 22:7-8; 12-13; 16)

  ประโยคที่สอง: “เราบอกความจริงกับท่านว่า วันนี้ท่านจะได้อยู่กับเราในเมืองบรมสุขเกษม”  โจรหนึ่งในสองคนที่ถูกตรึงกางเขนพร้อมกับพระองค์ได้ผสมโรงดูหมิ่นพระองค์ ส่วนอีกคนกลับใจใหม่:

   39ผู้ร้ายคนหนึ่งที่ถูกตรึงไว้จึงพูดหมิ่นประมาทพระองค์ว่า “เจ้าเป็นพระคริสต์ไม่ใช่หรือ? จงช่วยตัวเอง

  กับเราทั้งสองให้รอดเถิด” 40แต่อีกคนหนึ่งห้ามปรามเขาว่า “เจ้าไม่เกรงกลัวพระเจ้าหรือ? เพราะเจ้าก็ถูก

  ลงโทษเหมือนกัน 41และเราทั้งสองก็สมควรกับโทษนั้นจริง เพราะเราได้รับผลสมกับการกระทำ แต่ท่าน

  ผู้นี้ไม่ได้ทำผิดอะไรเลย” 42แล้วคนนั้นจึงทูลว่า “พระเยซู ขอพระองค์ทรงระลึกถึงข้าพระองค์เมื่อ

  พระองค์เสด็จเข้าไปในแผ่นดินของพระองค์” 43พระเยซูทรงตอบเขาว่า “เราบอกความจริงกับท่านว่า

  วันนี้ท่านจะอยู่กับเราในเมืองบรมสุขเกษม” (ลก. 23:39-43).

 

 

ชีวิตขององค์พระเยซูเจ้าเป็นเหตุให้มนุษย์แตกแยก: ใครไม่อยู่ฝ่ายเราก็ต่อต้านเรา และใครไม่รวบรวมไว้กับเรา ก็ทำให้กระจัดกระจาย” (มธ. 12:30)  เราแต่ละคนก็เหมือนโจรหนึ่งในสองนั้น  เมื่อถึงเวลาต้องตาย เราทุกคนต่างต้องเลือกว่า เราอยากจะเป็นเหมือนคนไหน  บางคนจะมองไม่เห็นคุณค่าความตายของพระคริสต์ และตายไปพร้อมกับบาปของตน  ส่วนคนอื่นๆจะมองเห็นงานการไถ่ของพระคริสต์ในวันนั้นและยอมรับว่า พระองค์ทนทุกข์เพื่อพวกเขา  เราหนีกางเขนไม่พ้น  เราทุกคนต้องเลือกว่า จะดำเนินในความบาปต่อไป หรือเชื่อและวางใจในงานของพระคริสต์ที่ตายแทนเราและเพื่อเรา  พระเยซูบอกโจรผู้กลับใจใหม่ว่า เขาจะได้อยู่กับพระองค์ในเมืองบรมสุขเกษมในวันนั้น  หลายคนไม่อาจเข้าใจถึงพระคุณเช่นนี้ที่พระองค์มีต่อโจรผู้สำนึกผิดได้ เพราะเขาไม่มีเวลาทำความดีใดๆเลย หรือไม่ได้รับบัพติสมาด้วยซ้ำ แต่พระคริสต์กลับบอกว่า ความเชื่อที่เขามีในพระเยซูวันนั้นเพียงพอแล้ว  ผมขอเตือนคุณว่า ความรอดนั้นได้ถูกมอบไว้เป็นของขวัญแก่ผู้เชื่อ มิใช่เพราะการดีอันชอบธรรมใดๆที่เราทำเลย (ตต. 3:5, อฟซ. 2:8-9)  หากคุณไม่เคยเข้าหาพระเจ้าผู้ทรงพระคุณทั้งสิ้นมาก่อน ก็ขอให้ร้องเรียกหาพระองค์เสียวันนี้เพื่อรับเอาของขวัญเดียวกันนี้จากพระเจ้า

 

ประโยคที่สาม: ระหว่างที่พระองค์หายใจรวยรินด้วยความเจ็บปวด พระเยซูยังคงห่วงใยบรรดาผู้ที่พระองค์รักมากที่สุด

 

   พระองค์ตรัสกับมารดาของพระองค์ว่า “หญิงเอ๋ย นี่คือบุตรของท่าน  แล้วพระองค์ตรัสกับ 

 

สาวกคนนั้นว่า “นี่คือมารดาของท่าน!” (ยน. 19:26-27)

 

เราไม่ได้ยินว่าโยเซฟ สามีของนางมารีย์อยู่ด้วยในช่วงที่พระเยซูทำพันธกิจรับใช้พระเจ้า ก็อาจสันนิษฐานได้ว่า เขาคงเสียชีวิตไปแล้วในช่วงใดช่วงหนึ่ง จึงเป็นความรับผิดชอบชองพระเยซูที่ต้องดูแลนางมารีย์เพราะเป็นลูกหัวปีของครอบครัว  พระองค์ขอให้ยอห์น สาวกที่พระองค์รักเป็นผู้ดูแลแม่ของพระองค์ต่อไป  และได้มอบเธอไว้ในความรับผิดชอบของผู้ที่พระองค์รู้ดีว่า สามารถไว้วางใจได้มากที่สุด แม้ในเสี้ยวนาทีที่ทุกข์ทรมานและต่อสู้สงครามจิตวิญญาณอันรุนแรง พระเยซูก็ยังห่วงใยสิ่งที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้ากับบรรดาผู้ที่จะอาลัยอาวรณ์ถึงพระองค์อีก  ทั้งไม่ลืมรายละเอียดอันสำคัญยิ่งนี้  พระองค์จึงมอบพวกเขาไว้แก่กันและกันเพื่อให้เล้าโลมใจกันในยามที่พระองค์จากไป

 

ในเรื่องราวที่ยอห์นเขียนนั้นไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ แต่มัทธิวกลับบันทึกถึงความมืดมนผิดปกติซึ่งปกคลุมลงมาเหนือแผ่นดินโลกอยู่สามชั่วโมง แล้วก็เกิดความมืดมัวทั่วแผ่นดิน ตั้งแต่เวลาเที่ยงวันจนถึงบ่ายสามโมง (มธ. 27:45) ความมืดมิดนี้มิได้เกิดจากสุริยุปราคา เพราะสุริยุปราคาจะไม่อยู่นานเกินเจ็ดนาทีครึ่ง ในขณะที่ความมืดนี้กินเวลานานถึงสามชั่วโมง  อาโมส ผู้เผยพระวจนะได้พยากรณ์ไว้ถึงชั่วโมงอันมืดมิดนี้ว่า:  

 

  “พระยาห์เวห์องค์เจ้านายตรัสว่า “ในวันนั้นเราจะทำให้ดวงอาทิตย์ตกในเวลาเที่ยงวัน ทำให้โลก

 

  มืดไปในเวลากลางวันแสกๆ (อาโมส 8:9)

 

ประโยคที่สี่: ว่าแล้วพระเยซูก็ร้องตะโกนประโยคที่สี่ออกมาขณะอยู่บนกางเขนว่า: พระเจ้าของข้า-พระองค์ พระเจ้าของข้าพระองค์ ทำไมพระองค์ทอดทิ้งข้าพระองค์?” (มก. 15:34)

 

ทำไมพระคริสต์ถึงรู้สึกถูกพระเจ้าทอดทิ้ง?

 

เปาโลเขียนถึงคริสตจักรที่เมืองโครินธ์ว่า พระเจ้าทรงทำพระองค์ผู้ทรงไม่มีบาปให้บาป เพราะเห็นแก่เรา เพื่อเราจะได้เป็นคนชอบธรรมของพระเจ้าในพระองค์ (1 คร. 5:21)  ณ บนกางเขนนั้น พระเยซูได้แบกบาปของทั้งโลกไว้ที่พระองค์เอง พระองค์กลายเป็นผู้แบกบาปของมวลมนุษยชาติ  พระคัมภีร์บอกเราว่า พระเจ้าบริสุทธิ์เกินกว่าจะมองดูความชั่วช้าได้ (ฮบก. 1:13) พระบิดาเบือนหน้าหนีจากพระบุตรเพราะพระเยซูกำลังแบกบาปของคุณและของผมไว้ที่ตัวเอง  ช่วงที่พระบิดาเบือนหน้าหนีนี้จึงเป็นช่วงเวลาอันเจ็บปวดรวดร้าวที่สุดของการถูกตรึงกางเขน

 

นายแพทย์โธมัส เดวิส ได้ศึกษาเกี่ยวกับการตรึงกางเขนว่า มีผลต่อร่างกายอย่างไร:

 

 ขณะที่แขนเริ่มอ่อนล้า กล้ามเนื้อเริ่มเป็นตะคริวระลอกแล้วระลอกเล่า จนปวดตุบๆลึกๆไม่หยุดหย่อน  เมื่อเป็นตะคริวแบบนี้ก็ทำให้พระองค์ยันตัวขึ้นมาหายใจไม่ได้  ยิ่งถูกแขวนห้อยอยู่ระหว่างแขนสองข้างนั้นก็ทำให้กล้ามเนื้อหน้าอกขยับเขยื้อนไม่ได้ และกล้ามเนื้อระหว่างซี่โครงก็ทำงานไม่ได้ สูดหายใจเข้าไปได้ แต่หายใจไม่ออก  พระเยซูดิ้นรนเพื่อยันตัวขึ้นหายใจเข้าแม้แค่ช่วงสั้นๆก็ยังดี  แต่ในที่สุดก็เกิดภาวะคาร์บอนไดออกไซด์คั่งในปอดและในกระแสเลือดมากขึ้นเรื่อยๆ  อาการตะคริวทุเลาลงบ้าง  แต่พระองค์ก็มีอาการกระตุกเป็นพักๆเพื่อดันตัวขึ้นหายใจให้ออก และสูดเอาออกซิเจนที่ให้ชีวิตเข้าไป...นานนับหลายชั่วโมงที่พระองค์ต้องทนกับความเจ็บปวดอันไร้ขีดจำกัด การบิดเกร็งของตะคริวที่ข้อต่อรอบแล้วรอบเล่า ภาวะขาดอากาศบางส่วนเป็นช่วงๆ อาการปวดแสบปวดร้อนจากเนื้อเยื่อฉีกขาดบนแผ่นหลังขณะที่พระองค์ขยับหลังขึ้นลงสีกับท่อนไม้หยาบๆ  และแล้วความทุกข์ทรมานอีกอย่างก็เริ่มขึ้น อาการปวดร้าวลึกๆตรงหน้าอกขณะที่ของเหลวเริ่มค่อยๆท่วมเยื่อหุ้มหัวใจและบีบหัวใจ ตอนนี้ใกล้จะจบแล้ว การสูญเสียของเหลวในเนื้อเยื่อเข้าขั้นวิกฤต (หัวใจที่ถูกบีบอัดกระเสือกกระสนสูบฉีดเลือดที่ทั้งหนัก ข้น และหนืดเข้าสู่เนื้อเยื่อ) ปอดที่ถูกทรมานกำลังลนลานหายใจพะงาบๆเพื่อสูดอากาศเข้าไปเฮือกเล็กๆ  เนื้อเยื่อขาดน้ำอย่างเห็นได้ชัดจึงส่งสารกระตุ้นไปท่วมสมอง

 

   ประโยคที่ห้า: แล้วพระเยซูก็พูดประโยคที่ห้าว่า: “เรากระหายน้ำ” (ยน. 19:28)  กษัตริย์ดาวิดได้กล่าวพยากรณ์ประโยคนี้ไว้เช่นกันว่า “กำลังของข้าพระองค์เหือดแห้งไปเหมือนเศษหม้อดิน และลิ้นของข้าพระองค์ก็เกาะติดที่เพดานปาก” (สดด. 22:15)  ยอห์นบันทึกไว้ว่า ทหารโรมันคนหนึ่งได้นำฟองน้ำเสียบปลายไม้หุสบยื่นให้พระองค์

ที่นั่นมีภาชนะใส่เหล้าองุ่นเปรี้ยววางอยู่ พวกเขาจึงเอาฟองน้ำชุบเหล้าองุ่นเปรี้ยวใส่ปลายไม้หุสบ ชู

ขึ้นแตะริมฝีปากพระเยซู (ยอห์น 19:29)

 

ทำไมยอห์นจึงกล่าวถึงต้นหุสบ?  ยอห์นมักจะให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็กๆน้อยๆเสมอ  ตอนที่ชาวอิสราเอลยังเป็นทาสของฟาโรห์และชาวอียิปต์ เครื่องมือในการปลดปล่อย คือ เลือดของลูกแกะไร้ตำหนิและสมบูรณ์ซึ่งต้องหลั่งลงในอ่างที่วางรองอยู่ใต้ประตู  จากนั้นพวกเขาก็ต้องเอาต้นหุสบกำหนึ่งจุ่มเลือดในอ่าง แล้วป้ายเลือดนั้นเป็นรูปกางเขนที่วงกบประตูทั้งด้านบน และสองข้างประตู

 

จงไปเอาลูกแกะสำหรับครอบครัวของพวกท่านมาฆ่าเป็นลูกแกะปัสกา 22และเอาต้นหุสบกำหนึ่งจุ่มลงในเลือดที่อยู่ในอ่าง แล้วป้ายเลือดนั้นที่วงกบประตูทั้งด้านบนและด้านข้างทั้งสองข้าง ห้ามผู้ใดออกไปพ้นประตูบ้านของตนจนถึงรุ่งเช้า 23เพราะพระยาห์เวห์จะเสด็จผ่านไปเพื่อจะประหารคนอียิปต์ เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นเลือดที่วงกบประตูทั้งด้านบนและด้านข้างทั้งสองข้าง พระยาห์เวห์จะทรงผ่านเว้นประตูนั้น และจะไม่ทรงให้ผู้สังหารเข้าไปในบ้านพวกท่านเพื่อจะประหารท่าน (อพย. 12:21ข-23)

 

เมื่อพระเจ้าเห็นเลือด พระองค์จะคุ้มครองครัวเรือนนั้น แล้วไม่อนุญาตให้ทูตสวรรค์ผู้ทำลายล้างเข้าไปในบ้านได้ (อสย. 31:5) ในทำนองเดียวกัน เราเชื่อว่า เลือดแห่งพันธสัญญาใหม่ (ยรม. 31:31) ถูกนำมาป้ายในชีวิตจิตวิญญาณของเราแล้ว และบัดนี้เราเป็นของพระเจ้า ทั้งยังได้รับการปลดปล่อยจากซาตาน (ฟาโรห์) และจากโลกนี้ (อียิปต์) อย่างสิ้นเชิงแล้ว

 

ประโยคที่หก:  “สำเร็จแล้ว!” (ยน. 19:30)  เมื่อพระเยซูรู้สึกว่า ถึงเวลาแล้ว หนังสือพระกิตติคุณทั้งสามเล่ม (มัทธิว มาระโก และลูกา) ต่างบอกว่า พระเยซูร้องออกมาเสียงดัง แต่ก็ไม่ได้บอกว่า ร้องว่าอะไร  มีเพียงยอห์นเท่านั้นที่บอกเรามาคำหนึ่งเป็นภาษากรีกว่า เทเทเลทสไตย แปลว่า สำเร็จแล้ว ในการแปลเป็นภาษาอังกฤษหลายๆฉบับ  นี่ไม่ใช่เสียงร้องตะโกนอย่างอิดโรย แต่เป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่  พระเยซูดันตัวขึ้นอีกครั้ง สูดลมหายใจเข้าเต็มปอดแล้วตะโกนกึกก้องไปทั่วทั้งโลกว่า “สำเร็จแล้ว!” (เทเทเลทสไตย) คำนี้เป็นคำที่ใช้ในงานบัญชีภาษากรีกทั่วไปสมัยนั้น  เมื่อลูกหนี้ชำระหนี้หมดแล้ว มันก็เทเทเลทสไตย  หมายความว่า จบสิ้น สมบูรณ์ หรือสำเร็จลุล่วงแต่โดยดี  ไม่ใช่แค่จบเฉยๆ แต่จบบริบูรณ์ตรงตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ยังหมายถึงว่า ได้ชำระเต็มจำนวน เช่น ในกรณีชำระภาษีหรือถวายเครื่องบรรณาการ  เสียงร้องตะโกนนี้เป็นการกู่ก้องถึงชัยชนะ!  ทุกอย่างสำเร็จแล้ว ชำระหมดสิ้น ไม่มีหนี้ใดๆติดค้างกับประชากรของพระเจ้าอีกแล้ว  พวกเขาเป็นอิสระแล้ว!  จึงไม่แปลกใจที่พระคริสต์จะตะโกนเสียงดัง  เพราะพระองค์ต้องการให้โลกรู้ว่า หนี้บาปได้ถูกชำระแล้ว  การพิพากษาของพระเจ้าและความยุติธรรมได้รับการไถ่แล้ว (ได้รับการแก้ไขและกลับคืนดีแล้ว)

 

ประโยคที่เจ็ด:  ขณะที่เสียงร้องตะโกนนี้ยังคงดังกึกก้องทั่วกลโกธา ประโยคที่เจ็ดซึ่งเป็นประโยคสุดท้ายที่พระองค์กล่าวจากบนกางเขนนั้น คือ  พระบิดา ลูกขอฝากจิตวิญญาณของลูกไว้ในมือของพระองค์!” (ลก. 23:46)  เมื่อกล่าวประโยคสุดท้ายนี้แล้ว พระเยซูก็มอบจิตวิญญาณของพระองค์ให้พระเจ้าไป

 

วันนี้ผมขอถามคุณว่า คุณมีหนี้เท่าไหร่?  มันหนักหนาถาโถมคุณไหม? พระเมสสิยาห์ได้จ่ายหนี้แทนคุณหมดแล้ว แต่ตราบใดที่คุณยังไม่ยอมรับและรับเอาการอภัยโทษนั้นมา คุณก็ยังคงอยู่ในความบาปของตัวเอง แบกภาระอันหนักหนานั้นที่พระองค์ได้มาตายเพื่อขจัดมันทิ้งไปจากคุณแล้ว

 

  ในปีค.ศ. 1829 มีชายชาวฟิลาเดลเฟียคนหนึ่งชื่อ จอร์จ วิลสัน ไปปล้นบริการไปรษณีย์ของสหรัฐฯ และระหว่างเข้าปล้นนั้นก็ได้ฆ่าคนตายไปหนึ่งคน  วิลสัน ถูกจับตัวมาขึ้นศาลเพื่อพิจารณาคดี และพบว่ามีความผิดจริง เขาต้องโทษประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ  เพื่อนบางคนได้ยื่นมือเข้าช่วย และในที่สุดเขาได้รับการอภัยโทษจากประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็คสัน  แต่เมื่อมีผู้แจ้งเรื่องนี้กับเขา จอร์จ วิลสัน กลับไม่ยอมรับการอภัยโทษนี้!  นายอำเภอลังเลใจมากที่จะประกาศการลงโทษนี้ เพราะเขาจะแขวนคอนักโทษผู้ได้รับการอภัยโทษแล้วได้อย่างไร  จึงได้ส่งคำอุทธรณ์ไปยังประธานาธิบดี แจ็คสัน  ประธานาธิบดีผู้งงงวยจึงหันไปหาศาลฎีกาของสหรัฐอเมริกาให้เป็นผู้ตัดสินคดีนี้  ผู้พิพากษาสูงสุด มาร์แชล ตัดสินว่า การอภัยโทษถือเป็นเพียงกระดาษแผ่นหนึ่ง คุณค่าของมันขึ้นอยู่กับว่า นักโทษผู้เกี่ยวข้องนั้นจะยอมรับมันหรือไม่  เป็นเรื่องยากที่จะคิดว่า จะมีนักโทษต้องโทษประหารคนใดจะไม่ยอมรับการอภัยโทษ แต่ในเมื่อไม่ยอมรับการอภัยโทษ มันก็ไม่ใช่การอภัยโทษ  จอร์จ วิลสัน จึงต้องถูกแขวนคอ  ดังนั้น จอร์จ วิลสัน จึงถูกประหารชีวิต ทั้งๆที่เอกสารการอภัยโทษเขายังวางอยู่บนโต๊ะของนายอำเภอ  คุณจะทำอย่างไรกับการอภัยโทษอันสมบูรณ์ที่ผู้พิพากษาสูงสุด พระเจ้าแห่งจักรวาลนี้ได้หยิบยื่นให้คุณ?

 

ผมอยากจบเรื่องนี้พร้อมกับคำถามชวนคิดว่า เกิดอะไรขึ้นเมื่อทหารสี่นายจับฉลากกันแย่งเสื้อผ้าของพระคริสต์  ลองคิดดูสิ  ในขณะที่พระเยซูกำลังจะตายด้วยความทุกข์ทรมานเจ็บปวดแทนพวกเขา แต่ทหารเหล่านี้กลับไม่แยแส มัวเล่นเกมและไม่สนใจไยดีกับความทุกข์ทรมานของพระองค์เลย  มันก็เป็นแค่วันธรรมดาๆวันหนึ่งของพวกเขา  พวกเขาหารู้ไม่ว่า ชะตาชีวิตตลอดนิจนิรันดร์ของตนนั้นแขวนอยู่บนเส้นด้าย เพราะมันหมายถึงว่า ทุกๆอย่างขึ้นอยู่กับการกระทำด้วยความรักอันเสียสละยิ่งใหญ่ครั้งนี้  ภาพนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่แยแสของโลกนี้ที่มีต่อพระคริสต์  พวกเขากำลังเล่นเกมกันราวกับว่า มันไม่สลักสำคัญอะไร  ไม่ว่าคุณจะทำอย่างไรกับเรื่องการเสียสละของพระคริสต์ ขอให้รู้ไว้ว่า อย่างไรเสีย คุณก็ต้องตอบสนองต่อเรื่องนี้  แล้วคุณจะตอบสนองต่อของขวัญแห่งการเสียสละนี้อย่างไร?  คุณจะทิ้งมันไว้บนโต๊ะเหมือน จอร์จ วิลสัน ไหม?

 

คำอธิษฐาน: พระบิดา ขอบคุณพระองค์สำหรับความรักและความเมตตาอันยิ่งใหญ่ซึ่งพระองค์ได้สำแดงในพระเยซูคริสต์และการเสียสละอันยิ่งใหญ่เพื่อลูก  ขอชำระลูกจากความบาปและสร้างลูกเป็นคนใหม่  ลูกขอมอบชีวิตให้พระองค์ และปรารถนาจะหลุดพ้นจากโซ่ตรวนฝ่ายวิญญาณที่ผูกมัดลูกไว้ เอเมน!

 

คีธ โธมัส

 

อีเมล: keiththomas@groupbiblestudy.com

 

เวปไซด์: www.groupbiblestudy.com

bottom of page