top of page

8. How Can I Be Sure of My Faith

สำหรับการศึกษาเพิ่มเติมในชุดนี้ คลิกที่นี่

8. ผมจะมั่นใจในความเชื่อได้อย่างไร

ช่วงเวลาส่วนใหญ่ตอนวัยรุ่นถึงวัยยี่สิบต้นๆ มีเหตุผลหลายต่อหลายอย่างที่ทำให้ผมเอือมระอากับการเป็นคริสเตียน แต่หลังจากเสาะแสวงหาจากศาสนาพุทธ ฮินดู และปรัชญาต่างๆแล้ว ผมก็มาเจอกับหนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับการกลับมาครั้งที่สองของพระคริสต์ที่ทำให้ผมฉุกคิดขึ้น  ผู้เขียนบอกว่า พระเยซูเป็นพระ-เมสสิยาห์หรือพระคริสต์ และวันหนึ่งพระองค์จะกลับมาปิดฉากยุคนี้โดยการปรากฏพระองค์  ผู้เขียนได้เขียนไว้ว่า ในวันที่พระองค์กลับมา จะมีคนมากมายอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับพระองค์  ถึงตอนนั้นก็จะสายเกินไปที่คนเหล่านั้นจะเปลี่ยนใจเมื่อพระองค์กลับมาแล้ว นี่คือพระคำข้อดังกล่าว:

 

15แล้วกษัตริย์ทั้งหลายในโลก พวกคนใหญ่คนโต บรรดานายทหารใหญ่ พวกเศรษฐี พวกผู้มีอำนาจ และทุกคนทั้งที่เป็นทาสหรือเสรีชน ต่างซ่อนตัวอยู่ในถ้ำและโขดหินตามภูเขา 16พวกเขาร้องบอกกับภูเขาและโขดหินว่า “จงล้มทับเราเถิด จงซ่อนเราไว้  ให้พ้นจากพระพักตร์ของพระองค์ผู้ประทับอยู่บนพระที่นั่ง และจากพระพิโรธของพระเมษโปดก 17เพราะว่าวันสำคัญแห่งพระพิโรธของพระองค์มาถึงแล้ว และใครจะสามารถยืนหยัดอยู่ได้เล่า”  (วิวรณ์ 6:15-17)

 

ข้อความนั้นทำให้ผมกลัวไม่เลิก ผมอ่านพระคำตอนนั้นเวลาเริ่มรู้สึกผิดเกี่ยวกับบาปของตัวเอง  ผมสรุปเอาเองว่า ผมไม่ได้อยู่ฝ่ายพระเจ้า เพราะผมสนุกกับการทำบาปและไม่อยากเลิกสูบกัญชา  ผมรู้ว่าถ้าผมจะติดตามพระคริสต์ ผมต้องทิ้งชีวิตขี้ยาไปเลย  พระเจ้าต้องการให้ผมมอบทั้งชีวิตแด่พระองค์  แม้จะยังคิดถึงข้อพระคัมภีร์นั้นอยู่ในหัว แต่ผมก็กลับไปเสพยาอีก  คืนนั้นผมฝันไป หรือเห็นนิมิตว่า ผมเห็นพระคริสต์กำลังมาบนท้องฟ้าพร้อมกับเหล่าทูตสวรรค์ และเห็นตัวเองพยายามหาถ้ำกำบังสักแห่งเพื่อซ่อนตัวจากพระองค์  ผมไม่มีความมั่นใจเลยว่า ตัวเองมีความสัมพันธ์อันดีกับพระองค์ จึงกลัวลนลานเมื่อเห็นพระองค์มา  ความยำเกรงพระเจ้าเริ่มเข้ามาในจิตวิญญาณ เหมือนที่พระคัมภีร์บอกไว้ว่า นั่นจะเป็นจุดเริ่มต้นของปัญญา (สภษ. 9:10)

 

ต่อมาหลังจากผมมอบชีวิตให้พระคริสต์แล้ว ในใจผมรู้ว่า ตัวเองได้รับการยอมรับและถูกรักแล้ว ทั้งนี้มิใช่เพราะความดีใดๆของผมเอง แต่ผมรับรู้ว่า พระเจ้าได้ให้หรือใส่บางสิ่งบางอย่างเข้ามาในวิญญาณของผม  ผมไม่เคยสูญเสียความรู้สึกในใจนั้นไปเลย ความรู้สึกที่รู้ว่า เมื่อตายแล้วผมจะไปไหน หรือว่าผมจะอยู่ฝ่ายใดเมื่อพระคริสต์กลับมาครั้งที่สอง  คุณอาจคิดว่า มันฟังดูอวดดีมาก แต่ความสัมพันธ์และพระเมตตาที่ผมได้รับนี้ ไม่ใช่มาจากตัวผมเอง แต่เป็นงานของพระเจ้า และผมก็เพียงแค่พักสงบในการงานของพระองค์เท่านั้น  เป็นพระคุณของพระเจ้าที่ผมรอดและจะได้ไปสวรรค์ ไม่ใช่การกระทำของผมเลย (อฟซ. 2:8-9)  ชีวิตมิได้มีจุดจบแค่ในโลกนี้ แต่ยังมีชีวิตหลังความตาย  ประวัติศาสตร์หาใช่ไร้ค่า หรือวนไปเรื่อยๆอยู่กับที่ หากแต่กำลังเคลื่อนไปสู่จุดสุดยอดอันงดงามตระการ

 

  ผู้ที่มีพระบุตรก็มีชีวิต ผู้ที่ไม่มีพระบุตรก็ไม่มีชีวิต ข้อความเหล่านี้ข้าพเจ้าเขียนถึงท่านทั้งหลายที่

  วางใจในพระนามของพระบุตรของพระเจ้า เพื่อให้ท่านรู้ว่าท่านมีชีวิตนิรันดร์ (1 ยน. 5:12-13)

 

นั่นเป็นความปรารถนาของผมสำหรับคุณทุกคนที่อ่านข้อพระคัมภีร์เหล่านี้  ให้คุณมั่นใจว่า คุณเป็นของพระองค์ พระองค์เป็นของคุณ และคุณสามารถยำเกรงพระเจ้าได้ด้วยความรัก การให้เกียรติอย่างเหมาะสม  ไม่ใช่กลัวหัวหดว่า พระองค์จะปฏิเสธคุณในวันนั้น  แต่เป็นความยำเกรงที่ดี หรือการให้เกียรติพระเจ้าผู้เรียกคุณให้เข้ามาหาพระองค์  คุณรู้ได้ด้วยสัญชาตญาณว่า คุณอยู่ฝ่ายไหน กำลังจะไปไหนเมื่อคุณตาย  พระเจ้าต้องการให้คุณมั่นใจในความรอดของพระองค์  ดังนั้น หัวข้อวันนี้ คือ ผมจะมั่นใจในความเชื่อได้อย่างไร?

 

ชีวิตใหม่

 

 ถ้าผู้ใดมาเป็นคริสเตียนผู้นั้นเป็นคนที่ถูกสร้างใหม่จากภายในเขาไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป แต่ชีวิตใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว (2 คร. 5:17 – ฉบับ The Living Bible)

 

เมื่อเรามอบชีวิตให้พระคริสต์ แต่ละคนจะมีประสบการณ์กับพระเจ้าแตกต่างกัน  ต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ผู้คนได้พูดถึงเมื่อพวกเขาเจอกับพระเจ้าผู้ยังมีชีวิตอยู่:

 

“เดี๋ยวนี้ฉันมีความหวังทั้งๆที่ก่อนหน้านี้มีแต่ความสิ้นหวัง  เดี๋ยวนี้ฉันให้อภัยคนอื่นได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีแต่ความเย็นชา…พระเจ้ามีชีวิตอยู่ในฉันจริงๆ  ฉันรู้สึกได้ว่า พระองค์กำลังชี้นำฉัน และความรู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยวอย่างที่สุดที่เคยรู้สึกมาตลอดก็หายไปเป็นปลิดทิ้ง  พระเจ้าได้เติมเต็มช่องว่างที่ลึกมากๆในใจ”

 

“ฉันรู้สึกอยากกอดทุกคนบนท้องถนน...ฉันหยุดอธิษฐานไม่ได้  แถมวันนี้ยังเกือบนั่งรถเลยป้ายด้วยซ้ำ เพราะมัวง่วนอธิษฐานอยู่ที่ชั้นบนของรถโดยสาร”

 

1) ประสบการณ์ทั้งหลายล้วนแตกต่างกันมาก  หลังจากผมมอบชีวิตให้พระคริสต์ ผมรู้ว่ามีบางอย่างเกิดขึ้นลึกๆในใจ  พระเจ้าได้ให้ผมสัมผัสชัดเจนถึงความรักที่พระองค์มีต่อผมเป็นส่วนตัว พร้อมทั้งรู้ลึกๆในใจว่า มีภาระหนักบางอย่างได้หลุดออกไป  ผมไม่ได้ตระหนักเลยว่า ตัวเองกำลังแบกภาระหนักอึ้งอยู่ จนกระทั่งมันหายไป  ผมรู้สึกเบาหวิว เป็นอิสระ และจิตใจสงบ  บางทีคุณเองก็คงรู้ถึงความแตกต่างทันทีเหมือนกัน  บางคนเติบโตมาแบบเป็นคริสเตียนมาตลอด และไม่เคยรู้สึกแยกจากพระเจ้า  ส่วนคนอื่นๆ ก็อาจมีอะไรเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าในช่วงเวลาหนึ่ง  ผมมีเพื่อนคนหนึ่งในประเทศอังกฤษ ชื่อโทนี  ก่อนจะมาพบพระคริสต์ เขาเป็นคนขี้เหล้า  ครั้งหนึ่งเขาเมาอยู่ที่กรุงปารีส และได้ขึ้นรถไฟสายหนึ่งโดยคิดว่า มันจะพาเขาไปยังชานเมืองปารีสซึ่งห่างไปสองสามไมล์  แต่ปัญหา คือ เขาเผลอหลับไป และมาตื่นขึ้นอีกหลายชั่วโมงต่อมาในเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศฮอลแลนด์  เขาได้เดินทางข้ามพรมแดนเบลเยียมและฮอลแลนด์โดยไม่รู้ว่า ตัวเองได้เดินทางผ่านไปถึงสองประเทศแล้ว  ในทำนองเดียวกัน พวกเราบางคนก็ได้ข้ามชายแดนจากอาณาจักรแห่งความมืดมายังอาณาจักรของพระคริสต์ โดยจำไม่ได้เลยว่า ผ่านไปตั้งแต่เมื่อไร  รู้แค่ว่าตอนนี้พวกเขาอยู่ในอาณาจักรของพระคริสต์แล้ว

 

ประสบการณ์นั้นแม้จะสำคัญ แต่ก็ไม่มากเท่ากับความจริงที่ว่า:

 

2) เมื่อเราต้อนรับพระคริสต์ เราได้กลายเป็นลูกของพระเจ้า  มันเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ใหม่

 

พ่อแม่ที่ดีๆย่อมต้องการให้ลูกๆเติบโตขึ้นอย่างปลอดภัยในความรักของพ่อแม่ แต่บางคนก็ไม่มั่นใจว่า ตัวเองเป็นคริสเตียนแท้ และไม่แน่ใจว่าพระเจ้ายอมรับเขา  อัครทูตยอห์นได้ย้ำให้เรามั่นใจอีกครั้งด้วยถ้อยคำนี้:

 

   “แต่ส่วนบรรดาผู้ที่ต้อนรับพระองค์ ผู้ที่เชื่อในพระนามของพระองค์ พระองค์ก็ทรงประทาน

   สิทธิให้เป็นบุตรของพระเจ้า” (ยน. 1:12)

 

ในตอนท้ายของชั้นเรียนผู้เชื่อใหม่ คอร์สอัลฟา  ที่ผมสอนอยู่  ผมจะขอให้ผู้เรียนกรอกแบบสอบถาม คำถามหนึ่งที่ผมถามคือ“คุณจะบรรยายว่า ตัวเองเป็นคริสเตียนหรือไม่ตอนเริ่มคอร์สนี้”?  ต่อไปนี้เป็นคำตอบบางส่วน:

 

·ใช่ แต่ก็ไม่เคยมีประสบการณ์จริงๆในความสัมพันธ์กับพระเจ้า

 

  “อะไรทำนองนั้น”

 

  “อาจจะใช่/คิดว่างั้น”

 

  “ไม่แน่ใจ”

 

  “เป็นไปได้”

 

  “งั้นมั้ง”

 

·  ใช่นะ แต่ถ้ามองย้อนไป ก็อาจจะไม่ใช่”

 

  · ไม่อ่ะ เป็นคริสเตียนครึ่งๆกลางๆ” 

 

ให้เรามาทบทวนตรงนี้กันสักครู่ คือ ตอนที่ผมแต่งงานกับแซนดี ภรรยาของผมในปีค.ศ. 1980 ตอนนั้นผมมีเงินประมาณสามร้อยดอลลาร์สหรัฐในบัญชี ซึ่งก็พอสำหรับแหวนทองคำเกลี้ยงบนนิ้วของเรา  การดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ของเราพังไม่เป็นท่า เพราะเราถูกขโมยของทุกอย่างในรถไปหมดขณะไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ในเมืองชิคาโก  ผมเองก็ไม่สามารถทำงานได้จนกว่าจะหลังแต่งงาน แล้วยื่นแบบฟอร์มขอกรีนการ์ดจากกองตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐเสียก่อน  ช่วงสองสามสัปดาห์แรกของการแต่งงานเป็นช่วงที่เลวร้ายมาก แต่เราก็ยังมีกันและกัน ตลอดจนความฝันที่จะรับใช้พระเจ้า  จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีเพื่อนสักคนมาถามแซนดีหลังจากที่เราเพิ่งกลับจากดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ว่า “เธอจะบรรยายถึงตัวเองว่า แต่งงานแล้วไหม?”  แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเธอตอบว่า "ใช่ แต่ก็ไม่ได้มีประสบการณ์ในความสัมพันธ์กับคีธจริงๆเลย”  หรือเธออาจจะตอบว่า “ก็ทำนองนั้น” “อาจจะใช่/คิดว่างั้น” “ไม่แน่ใจ” “เป็นไปได้” “ใช่นะ แต่ถ้ามองย้อนกลับไป อาจจะไม่ใช่” หรือแม้กระทั่งว่า “ไม่นะ เราแต่งกันแบบครึ่งๆกลางๆ”  มันฟังดูไม่ค่อยใช่ความสัมพันธ์เลย จริงมั้ย?  พระเจ้าผู้มีชีวิตอยู่ได้เข้ามาในความสัมพันธ์แบบพันธสัญญากับคุณ—การแต่งงานของคริสเตียนก็เป็นภาพหนึ่งของความสัมพันธ์อันใกล้ชิดที่พระเจ้ามีกับเรา (1 ยน. 5:13)

 

3) พระเจ้าต้องการให้เรามั่นใจ “ข้อความเหล่านี้ข้าพเจ้าเขียนถึงท่านทั้งหลายที่วางใจในพระนามของพระ-บุตรของพระเจ้า เพื่อให้ท่านรู้ว่าท่านมีชีวิตนิรันดร์” (1 ยน. 5:13)

 

มีหลักฐานอะไรที่ยืนยันว่า ความเชื่อนั้นแท้และจริงใจ?

 

ดุจขาตั้งกล้องที่ต้องมีสามขารองรับฉันใด ความมั่นใจในความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้าก็ยืนหยัดมั่นคงอยู่บนการงานของพระเจ้าทั้งสามพระภาคในองค์ตรีเอกานุภาพฉันนั้น

 

1) พระสัญญาที่พระบิดาประทานให้เราในพระคำของพระองค์

2) การเสียสละของพระบุตรแทนเราบนไม้กางเขน

3) การยืนยันของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในใจเรา

 

ทั้งหมดนี้สามารถสรุปได้เป็นสามหัวข้อดังนี้: พระคำของพระเจ้า การงานของพระเยซู และพยานของพระ-วิญญาณบริสุทธิ์  ให้เรามาดูกันทีละข้อ

 

พระคำของพระเจ้า

 

ถ้าเราไว้ใจความรู้สึกของเรา เราจะไม่มีวันมั่นใจในอะไรได้เลย  ความรู้สึกหรืออารมณ์ของเราขึ้นๆลงๆตามสภาพดินฟ้าอากาศ หรือแล้วแต่อาหารเช้าที่เรารับประทานเข้าไป  อารมณ์ความรู้สึกนั้นเปลี่ยนแปลงและล่อลวง พระสัญญาในพระคัมภีร์ซึ่งเป็นพระคำของพระเจ้านั้นไม่เปลี่ยนแปลงและเชื่อถือได้  ให้เรามาดู

 

พระสัญญาสามข้อในพระคำของพระเจ้ากัน

 

นี่แน่ะ! เรายืนเคาะอยู่ที่ประตู ถ้าผู้ใดได้ยินเสียงของเราและเปิดประตู เราจะเข้าไปหาผู้นั้นและจะรับประทานอาหารร่วมกับเขา และเขาจะรับประทานอาหารร่วมกับเรา (วว. 3:20)

 

ในข้อความข้างต้น พระเยซูกำลังยืนเคาะอยู่นอกประตู เพื่อขอเข้ามาข้างใน  พระสัญญานี้กล่าวว่า ถ้าผู้ใดได้ยินเสียงของพระองค์และเปิดประตู พระองค์จะเข้าไปหาผู้นั้นและมีความสัมพันธ์สนิทสนมลึกซึ้งแบบที่นั่งรับประทานอาหารด้วยกันบนโต๊ะเดียวกัน ซึ่งเป็นภาพของความสัมพันธ์อันสนิทสนม

 

จิตกรชาวอังกฤษคนหนึ่งจากกลุ่มพรี ราฟาเอลไลต์นามโฮลแมน ฮันท์ (ค.ศ.1827-1910)  ได้เกิดแรงบันดาลใจจากพระคำข้อนี้ และวาดภาพ “The Light of the World” (แสงสว่างของโลก) ขึ้น โดยวาดทั้งหมดสามรูป  รูปหนึ่งแขวนอยู่ที่วิทยาลัยคีเบิล เมืองอ็อกซ์ฟอร์ด  อีกรูปอยู่ในหอศิลป์แมนเชสเตอร์ซิตี  ภาพที่สามเป็นภาพที่โด่งดังที่สุด และถูกนำไปถวายยังมหาวิหารเซ็นต์พอลมในปีค.ศ. 1908 ซึ่งยังคงแขวนอยู่จนทุกวันนี้  เมื่อภาพแรกถูกนำมาแสดง โดยรวามๆก็ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่ค่อยดี  แต่แล้วในวันที่ 5 พฤษภาคมปีค.ศ. 1854 จอน รัสกิน ศิลปินและนักวิจารณ์ศิลปะได้เขียนไปถึงหนังสือพิมพ์เดอะ ไทมส์ และอธิบายถึงสัญลักษณ์ต่างๆยาวเหยียด ทั้งยังแก้ต่างให้อย่างเฉียบคมว่า นี่เป็น “หนึ่งในผลงานชั้นสูงแห่งศิลปะบริสุทธิ์เท่าที่เคยมีผู้สร้างสรรค์ขึ้นมาไม่ว่าในยุคนี้หรือยุคไหนๆ”  เป็นภาพพระเยซู ผู้เป็นความสว่างของโลก ยืนรออยู่ที่ประตูจนถูกเถาวัลย์และวัชพืชต่างๆเลื้อยพันไปทั่วตัว  ประตูนั้นแสดงถึงประตูชีวิตของใครสักคน คนๆนี้ไม่เคยเชิญพระเยซูเข้าไปในชีวิต  แต่พระเยซูก็ยังยืนรอเคาะประตูอยู่ด้านนอก  รอให้คนๆนั้นตอบรับ  พระองค์อยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเขา  มีคนบอกกับโฮลแมน ฮันท์ ว่า เขาพลาดไปอย่างหนึ่ง  พวกเขาบอก “คุณลืมวาดที่จับประตู” “อ๋อ ไม่ล่ะครับ” ฮันท์ตอบ “ผมตั้งใจให้เป็นแบบนั้น ที่จับประตูมีเพียงอันเดียวที่อยู่ด้านในเท่านั้น”

 

พูดอีกอย่าง คือ เราต้องเป็นคนเปิดประตูให้พระเจ้าเข้ามาในชีวิต  พระเยซูจะไม่มีทางฝืนใจเรา  พระองค์ให้เราเลือกอย่างเสรี  มันขึ้นอยู่กับเราว่า จะเปิดประตูให้พระองค์หรือไม่  ถ้าเราเปิด พระองค์สัญญาว่า “เราจะเข้าไปหาผู้นั้นและรับประทานอาหารร่วมกับเขา และเขาจะรับประทานอาหารร่วมกับเรา” การรับประทานอาหารด้วยกันเป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพที่พระเยซูหยิบยื่นให้ทุกคนที่เปิดประตูแห่งชีวิตแก่พระองค์  เมื่อเราเชิญพระคริสต์เข้ามาในชีวิตแล้ว พระองค์สัญญาว่า จะไม่มีวันทอดทิ้งเรา:

           

“เราจะอยู่กับเจ้าทั้งหลายเสมอไป จนกว่าจะสิ้นยุค” (มธ. 28:20)

 

พวกเราหลายคนก็ไม่ได้รับรู้ตลอดเวลาว่า พระเจ้าอยู่กับเรา และมักจะรู้สึกว่า เราทำให้พระองค์เสียใจบ่อยๆด้วยเหตุบางประการ แต่มันก็เหมือนการทำงานกับคนอื่นๆที่อยู่ในห้องเดียวกัน คุณรู้ว่าพวกเขาอยู่ตรงนั้น แต่ไม่ได้พูดคุยกันตลอดเวลา  พระเยซูกล่าวว่า “เราจะไม่ละท่าน หรือทอดทิ้งท่านเลย” (ฮบ.13:5)

 

พระสัญญาข้อที่สามในพระคำของพระเจ้าพบอยู่ในยอห์น บทที่สิบ

 

28เราให้ชีวิตนิรันดร์แก่แกะทั้งหลาย แกะเหล่านั้นจะไม่มีวันพินาศและจะไม่มีใครแย่งชิงแกะนั้นไปจากมือของเราได้ 29พระบิดาของเราผู้ประทานแกะนั้นให้แก่เราทรงเป็นใหญ่กว่าทุกสิ่ง และไม่มีใครสามารถชิงไปจากพระหัตถ์ของพระบิดาได้ 30เรากับพระบิดาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” (ยน. 10:28-30)

 

พระสัญญานี้บอกเราว่า สิ่งที่พระเจ้าให้เราแล้ว เราจะไม่มีทางสูญเสียมันไปอย่างเด็ดขาด นั่นคือ ชีวิตนิ-รันดร์  คุณอาจเดินจากพระองค์ไป แต่หากคุณได้มอบชีวิตให้พระองค์แล้ว คุณก็เป็นลูกของพระองค์  หากคุณจงใจกลับไปทำบาป พระองค์ก็รู้ดีว่า จะลงวินัยคุณอย่างไรเพื่อนำคุณกลับมาหาพระองค์ และละทิ้งบาปเสีย  ถ้าคุณได้มอบชีวิตให้พระคริสต์อย่างจริงใจ พระเจ้าก็จะทำให้คุณมั่นคงในความรักและพระคุณของพระองค์อย่างที่สุด

 

การเป็นขึ้นใหม่ของพระเยซูเกี่ยวข้องกับหลายๆอย่าง  ประการแรก มันทำให้เรามั่นใจในอดีตว่า สิ่งที่พระ-เยซูทำสำเร็จแล้วบนกางเขนนั้นมีผลจริง “การเป็นขึ้นใหม่ของพระเยซูไม่ใช่การพลิกกลับจากความพ่ายแพ้ หากแต่เป็นการประกาศชัยชนะ”  ประการที่สอง มันทำให้เรามั่นใจในปัจจุบันว่า พระเยซูยังมีชีวิตอยู่ ฤทธิ์อำนาจของพระองค์อยู่กับเรา ให้ชีวิตที่ครบบริบูรณ์แก่เรา  ประการที่สาม มันยืนยันกับเราถึงอนาคตว่า ชีวิตไม่ได้จบลงแค่ในโลกนี้ แต่ยังมีชีวิตหลังความตาย  ประวัติศาสตร์ไม่ไร้ค่า หรือวนไปวนมาเป็นวงจร: หากแต่กำลังมุ่งไปสู่จุดสุดยอดอันเลอเลิศ

 

วันหนึ่งพระเยซูจะกลับมายังโลกเพื่อสถาปนาสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่ (วว. 21:1) เมื่อนั้นบรรดาผู้ที่อยู่ในพระคริสต์จะไป อยู่กับองค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นนิตย์” (1 ธส. 4:17)  จะไม่มีการร้องไห้คร่ำครวญ เจ็บปวด การทดลอง ความบาปอีกต่อไป ที่นั่นจะไม่มีความทุกข์ทรมาน การแยกจากคนที่รัก และเราจะได้เห็นพระเยซูหน้าต่อหน้า (1 คร. 13:12) เราจะได้รับกายที่เป็นขึ้นจากความตาย เป็นกายใหม่ที่งดงามและไม่เจ็บปวด (1 คร. 15) พระเจ้าจะเปลี่ยนเราให้มีจิตใจเหมือนพระเยซูคริสต์ (1 ยน. 3:2) สวรรค์จะเป็นสถานที่แห่งความสุขและความยินดีเปี่ยมล้นชั่วนิรันดร์  บางคนได้ประชดประชันเรื่องนี้ว่า มันคงจะจำเจน่าเบื่อมาก  แต่พระคัมภีร์บอกไว้ว่า สิ่งที่ตาไม่เห็นหูไม่ได้ยิน และสิ่งที่มนุษย์คิดไม่ถึง คือ สิ่งที่พระเจ้าได้ทรงจัดเตรียมไว้สำหรับคนที่รักพระองค์” (1 คร. 2:9 อ้างอิงมาจากอสย. 64:4)

 

ซี.เอส.ลูอิส บรรยายถึงสวรรค์ไว้ในเรื่องหนึ่งจากหนังสือ: Chronicles of Narnia (ตำนานแห่งนาร์เนีย) ดังนี้

 

ปิดเทอมแล้ว ถึงเวลาเริ่มต้นวันหยุดเสียที  ความฝันจบลง นี่เช้าแล้ว...ชีวิตของเขาเหล่านั้นในโลกใบนี้...เป็นแค่หน้าปกและหน้ารองปกหนังสือเท่านั้น  บัดนี้ ในที่สุดก็ถึงเวลาที่พวกเขาจะเริ่มบทแรกของเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ซึ่งยังไม่มีใครบนโลกนี้เคยได้อ่านเสียที เป็นเรื่องราวซึ่งจะดำเนินไปตลอด

 

นิรันดร์ และเรื่องราวในทุกๆบทนั้นก็จะดีขึ้นเรื่อยๆกว่าบทก่อนหน้า

 

การงานของพระเยซู

 

แม้ชีวิตนิรันดร์เป็นของขวัญที่พระเจ้าให้เราเปล่าๆ แต่ก็ไม่ใช่ราคาถูกๆ เพราะพระเยซูต้องชดใช้ด้วยชีวิตของพระองค์เอง ถ้าเราอยากได้รับของขวัญนี้ เราต้องเต็มใจหันหลังจากทุกสิ่งที่เรารู้ว่าผิด  สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำร้ายเราและนำไปสู่ “ความตาย” (โรม 6:23) การหันหนีจากบาปเหล่านี้เป็นสิ่งที่พระคัมภีร์เรียกว่า การกลับใจใหม่ (เปลี่ยนความคิดจิตใจเราจริงๆ) เรายอมรับของขวัญนี้โดยการกลับใจใหม่และความเชื่อ

 

ความเชื่อคืออะไร จอห์น จี. เพตัน (ค.ศ.1824-1907) ชาวสกอตแลนต์ จากเมืองดัมฟรีส เชอร์ ได้เดินทางไปยังหมู่เกาะนิว เฮบริดีส (ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก) เพื่อเล่าเรื่องพระเยซูให้ชาวเกาะที่นั่นฟัง  ชาวเกาะเหล่านั้นเป็นพวกมนุษย์กินคน ชีวิตเขาจึงตกอยู่ในอันตรายตลอดเวลา  เพตันตัดสินใจแปลพระกิตติคุณยอห์น แต่ก็พบว่าไม่มีคำศัพท์ใดในภาษาของพวกเขาที่แปลว่า “เชื่อ” หรือ “ไว้วางใจ”  ไม่มีใครไว้ใจใครทั้งนั้น

 

ในที่สุด เพตัน ก็พบวิธีค้นหาคำศัพท์ที่เขากำลังต้องการอยู่  เมื่อคนรับใช้ชาวพื้นเมืองเข้ามาในบ้าน  เพตันยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นจากพื้น เอนหลังบนเก้าอี้ แล้วถามว่า “ผมกำลังทำอะไรอยู่ตอนนี้?คนใช้ตอบกลับมา โดยใช้คำที่มีความหมายว่า “วางน้ำหนักทั้งหมดของท่านไว้บน”  นี่จึงเป็นคำที่เพตันเอามาใช้  ความเชื่อ คือ การวางน้ำหนัก (ภาระ) ทั้งหมดลงที่พระเยซูและสิ่งที่พระองค์ทำเพื่อเราบนไม้กางเขนนั้น  พระเยซูรับเอาความผิดที่เราทำไปไว้ที่พระองค์แล้ว  การตายอย่างเสียสละของพระเมสสิยาห์นี้ได้ถูกพยากรณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วในหนังสืออิสยาห์จากพันธสัญญาเดิม  ห้าร้อยกว่าปีก่อนที่พระเยซูจะมาดำเนินบนโลกนี้ ผู้เผยพระวจนะได้เห็นล่วงหน้าแล้วถึงสิ่งที่ “ผู้รับใช้ผู้ทนทุกข์” นี้จะทำเพื่อเรา จึงกล่าวไว้ในอิสยาห์ 53:6 ว่า เราทุกคนได้หลงเจิ่นไปเหมือนแกะ เราทุกคนต่างหันไปตามทางของตนเอง และพระเจ้าจึงวางความบาปผิดของเราทุกคนไว้บนท่าน (คือพระเยซู)”  ในการกล่าวถ้อยคำของพระเจ้า อิสยาห์บอกว่า เราทุกคนล้วนทำผิดบาป เราทุกคนได้หลงเจิ่นไป  เขาพูดไว้ในตอนอื่นๆว่า สิ่งผิดบาปทั้งหลายที่เราทำลงไปเป็นเหตุให้เราถูกแยกจากพระเจ้า (อสย. 59:2) การฟ้องผิดนี้เองเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำไมพระเจ้าจึงดูเหมือนอยู่ห่างไกล  มีอุปสรรคกั้นระหว่างพระเจ้ากับเรา ทำให้เราไม่ได้สัมผัสความรักของพระองค์

 

ในทางกลับกัน พระเยซูไม่เคยทำผิดเลย  พระองค์ดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์แบบ  จึงไม่มีสิ่งใดกีดขวางระหว่างพระองค์กับพระบิดา  บนไม้กางเขนนั้น พระเจ้าได้ย้ายความผิดทั้งสิ้นของเรา (ความชั่วช้าของเรา) ไปไว้ที่พระเยซู (พระเจ้าวางความบาปผิดชั่วช้าของเราทั้งหมดลงบนพระองค์”) เพราะเหตุนี้พระเยซูจึงร้องออกมาบนกางเขนนั้นว่า พระเจ้าของข้าพระองค์ พระเจ้าของข้าพระองค์ ทำไมพระองค์ทรงทอดทิ้งข้าพระองค์?” (มก. 15:34) ในเวลานั้น พระคริสต์ได้รับเอาความบาปของทั้งโลกไว้ที่พระองค์เอง  พระองค์เป็นแกะของพระเจ้าที่มารับบาปแทนเรา

 

การที่พระคริสต์มาตายแทนเรานี่เองจึงทำให้อุปสรรคที่กั้นระหว่างพระเจ้ากับเราถูกขจัดออกไปสำหรับคนเหล่านั้นที่ยอมรับและรับเอาสิ่งที่พระเยซูทำเพื่อพวกเขา  จึงส่งผลให้เรามั่นใจในการอภัยบาปของพระเจ้าได้  การฟ้องผิดของเราจะถูกยกออกไปเมื่อเราเชื่อและไว้วางใจในงานของพระคริสต์ที่ตายแทนเราบนไม้กางเขน  เราจึงมั่นใจได้ว่า เราจะไม่ถูกกล่าวโทษอีก  ดังที่เปาโลกล่าวไว้ว่า เพราะฉะนั้นไม่มีการลงโทษคนที่อยู่ในพระเยซูคริสต์(รม. 8:1)  การที่พระคัมภีร์บอกสิ่งเหล่านี้กับเราก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เรามั่นใจได้ว่า เรามีชีวิตนิรันดร์  เพราะพระเยซูได้ชำระหนี้บาปของเราบนไม้กางเขนแล้วโดยการตายแทนเรา

 

ความสัมพันธ์ของเรา

 

เช่นเดียวกับที่อุปนิสัยใจคอของเราที่เปลี่ยนไป ความสัมพันธ์ทั้งกับพระเจ้าและคนอื่นๆของเราก็จะเปลี่ยนไปด้วย  เราจะมีความรักแบบใหม่ต่อพระเจ้า คือ พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์  ตัวอย่างเช่น เมื่อได้ยินคำว่า “พระเยซู” จะมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกในใจไม่เหมือนเดิม  ก่อนมาเป็น

 

คริสเตียน เวลาผมฟังวิทยุหรือดูโทรทัศน์ แล้วมีคนมาเริ่มพูดถึงพระคริสต์ ผมจะปิดทันที  แต่หลังจากกลับใจมาเชื่อพระคริสต์ ผมจะเปิดเสียงดังขึ้น เพราะท่าทีของผมต่อพระเจ้าเปลี่ยนไปแล้ว  การหันมาสนใจเรื่องต่างๆของคริสเตียนแสดงให้ผมเห็นว่า หัวใจผมเปลี่ยนไปและได้รับการสร้างใหม่

 

ท่าทีของเราต่อผู้อื่นก็เปลี่ยนไปด้วย  คริสเตียนใหม่ๆมักบอกผมว่า เดี๋ยวนี้พวกเขาเริ่มสังเกตเห็นใบหน้าผู้คนบนท้องถนนและบนรถโดยสาร  ก่อนมาเจอพระคริสต์ พวกเขาแทบไม่สนใจใครเลย แต่ตอนนี้พวกเขารู้สึกเป็นห่วงเป็นใยคนที่มักจะดูเศร้าหมองและหลงหาย  ความแตกต่างอย่างหนึ่งในบรรดาหลายๆสิ่งในชีวิตคริสเตียนช่วงแรกๆของผม คือ ท่าทีต่อคริสเตียนคนอื่นๆ  ผมมาเป็นคริสเตียนในสหรัฐอเมริกาขณะที่ได้ค้นหาความจริงอยู่นาน  ช่วงวัยรุ่นผมได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด แต่ในใจผมไม่เคยสงบเลย และหวาดกลัวอนาคต  เมื่อผมได้ยินพระกิตติคุณและมอบชีวิตให้พระคริสต์ มีคนบอกว่า ผมต้องไปโบสถ์ที่เชื่อในพระคัมภีร์  ผมสงสัยว่าที่บ้านเกิดผมซึ่งมีประชากร 16,000 คนจะมีโบสถ์แบบนั้นหรือ!  ตอนผมอายุราวๆสิบหกปี ผมไปรุกรานคริสตจักรแห่งหนึ่งที่บ้านเกิด โดยไประบายสีบนกล่องด้านนอกโบสถ์ซึ่งมีไฟอยู่เหนือพระคัมภีร์  พระคัมภีร์นั้นมีข้อความตอนหนึ่งที่โดนใจพวกที่กำลังจับจ่ายซื้อของกันในเมือง  ผมเคยโทษพระเจ้าเรื่องการตายของแม่ตอนผมอายุห้าขวบ  พระเจ้าได้นำผมกลับไปยังคริสตจักรที่ผมเคยไปบุกรุกเมื่อตอนวัยรุ่น  ที่นั่นไม่มีเพื่อนประเภทฮิปปี้ “เจ๋งๆ”  แต่เมื่อได้รู้จักพวกเขา ผมก็พบว่า พวกเขาเป็นคนน่ารักและเปิดใจยอมรับผม  พวกเขาไม่ได้ไว้ผมยาวเหมือนผมในตอนนั้น แต่พระวิญญาณบริสุทธิ์องค์เดียวกันที่อยู่ในใจผมก็อยู่กับพวกเขาด้วย  และเราพูดคุยกันเรื่องพระเยซูอย่างสนุกสนานมาก  อันที่จริง ไม่ช้า ผมก็เริ่มมีมิตรภาพลึกซึ้งกับคริสเตียนคนอื่นๆซึ่งผมไม่เคยรู้มาก่อนว่าจะเป็นไปได้

 

ประการที่สอง เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงที่สังเกตเห็นได้ในชีวิตเรา พระวิญญาณบริสุทธิ์ยังนำเราให้ได้สัมผัสพระเจ้าภายในใจด้วย  พระองค์สร้างความเชื่อมั่นลึกๆในใจว่า เราเป็นลูกของพระเจ้า:

 

 15เหตุว่าท่านไม่ได้รับน้ำใจทาสซึ่งทำให้ตกในความกลัวอีก แต่ท่านได้รับพระวิญญาณผู้ทรงให้เป็นบุตร

   ของพระเจ้า ให้เราทั้งหลายร้องเรียกพระเจ้าว่า <<อับบา>> คือพระบิดา 16พระวิญญาณนั้นเป็น

   พยานร่วมกับวิญญาณจิตของเราทั้งหลายว่า เราทั้งหลายเป็นบุตรของพระเจ้า (รม. 8:15-16)

 

ประสบการณ์ที่เราแต่ละคนรู้อะไรๆได้ด้วยสัญชาตญาณนั้นย่อมแตกต่างกันไป  บางคนแทบไม่ค่อยรับรู้ถึงพยานของพระวิญญาณที่อยู่ในใจ ขณะที่คนอื่นๆรู้สึกชัดเจนถึงอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์  เมื่อคนๆหนึ่งอุทิศตัวแด่พระเจ้า พยานของพระวิญญาณนี้จะชัดเจน  แต่สำหรับผู้ที่ไม่ค่อยได้รับรู้ถึงความรู้สึกนั้น ก็ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่มีพระวิญญาณบริสุทธิ์  แต่พระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ได้ครอบครองทุกส่วนในชีวิตพวกเขา  ยิ่งคุณเติมเต็มชีวิตด้วยพระสัญญาของพระเจ้า ความสัมพันธ์รักนี้ก็จะเหนียวแน่นขึ้น  ยิ่งคุณมอบตัวเองไว้ในมือพระคริสต์มากขึ้นเท่าไร พยานของพระวิญญาณบริสุทธิ์ก็จะยิ่งชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น

 

หลังจากมาเป็นคริสเตียนแล้ว ผมกลับจากอมริกาไปทำอาชีพประมง ทำงานกับพ่อบนเรือของพ่อ หัวใจผมไหลล้นด้วยความรักของพระเจ้าและรับรู้ถึงความรักของพระองค์ที่มีต่อผม  ความรู้สึกมันแรงมากจนผมรู้สึกพระวิญญาณบริสุทธิ์เร้าใจให้บอกพ่อว่า ผมรักพ่อ  จะว่าไปคุณต้องเข้าใจถึงจิตใจคนอังกฤษ โดยเฉพาะในครอบครัวเรา  ผมแทบไม่เคยได้ยินคำว่า “รักลูก” กับหูตัวเองจากใครสักคนในครอบครัวเลย  แต่ตอนนี้ผมกำลังรู้สึกเหมือนว่า ผมต้องทำลายบางสิ่งที่เป็นมาตลอดหลายชั่วอายุคน นั่นคือการไม่รู้จักบอกรักกันและกัน  ผมกล่าวติดอ่าง ปากสั่นขณะบอกพ่อว่า “ผมรักพ่อ จริงๆนะครับ”

 

หลังจากนั้น ผมรู้สึกเหมือนตัวเองได้เอาชนะบางอย่างที่ครอบงำผม  ผมพูดออกไปจากหัวใจและความรู้สึกในใจจริงๆ  แม้ผมจะไม่ได้รับการตอบสนองจากพ่อแบบที่อยากเห็น แต่ผมรู้ว่าพ่อก็รักผม  ผมรู้สึกมั่นคงและพักสงบเมื่อรับรู้เช่นนั้น  ผมรู้ว่าพระบิดารักผม และนั่นก็สำคัญที่สุด  ความรักของพระเจ้าที่มีต่อเราไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าเราจะทำอะไร ผมมั่นคงในความรักของพระองค์ และคุณก็ควรจะเป็นเช่นนั้นด้วย  การรับรู้ถึงพระเจ้าแบบนี้ คือ พยานของพระวิญญาณของพระองค์  คุณเป็นของพระองค์ และพระองค์ก็เป็นของคุณ  คุณจึงสามารถพักสงบในความมั่นใจนั้นได้

 

คาร์ล ทัทเทิล เป็นศิษยาภิบาลชาวอเมริกันซึ่งมาจากครอบครัวที่บ้านแตกสาแหรกขาด  วัยเด็กของเขาน่าเวทนามากเพราะถูกพ่อทำร้าย  ครั้งหนึ่งหลังจากมาเป็นคริสเตียนแล้ว คาร์ล อยากได้ยินว่า พระเจ้าต้องการบอกอะไรเขา  เขาจึงตัดสินใจออกไปต่างจังหวัด  ไปในที่ๆเขาจะอธิษฐานได้ทั้งวันโดยไม่ถูกขัดจังหวะ  ดังนั้น เมื่อมาถึง เขาก็เริ่มอธิษฐาน  แต่หลังจากสิบห้านาทีผ่านไป เขารู้สึกว่าเขาไปไม่ถึงไหน  ขณะขับรถกลับบ้าน เขารู้สึกหดหู่และผิดหวังมาก  เขาจึงขึ้นไปดูแซ็คคารี ลูกน้อยวัยสองเดือนของเขาที่ชั้นบน  คาร์ลเข้าไปในห้องแล้วอุ้มลูกขึ้นมา  ขณะที่อุ้มลูกชายอยู่นั้น เขารู้สึกถึงความรักอันเหลือเชื่อที่มีต่อทารกน้อยคนนี้ท่วมท้นเข้ามาในใจ  แล้วเขาก็เริ่มร้องไห้และพูดกับลูกว่า “แซ็คคารี” เขาพูด “พ่อรักลูกนะ พ่อรักลูกหมดหัวใจ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในชีวิตนี้ พ่อจะไม่มีวันทำร้ายลูก พ่อจะปกป้องลูกเสมอ จะเป็นพ่อของลูก จะเป็นเพื่อน จะดูแล ทะนุถนอมเลี้ยงดูลูกตลอดไป และพ่อจะทำเช่นนี้เสมอไปไม่ว่าลูกจะทำบาปอะไร หรือทำอะไรมา และไม่ว่าลูกจะหันหลังให้พระเจ้าหรือพ่อก็ตาม”  ทันใดนั้น คาร์ลรู้สึกว่า เขาอยู่ในอ้อมกอดของพระเจ้า และพระเจ้าก็กำลังบอกเขาแบบเดียวกัน  “คาร์ล เจ้าเป็นลูกพ่อนะ และพ่อก็รักลูก ไม่ว่าลูกจะทำอะไร ไปไหน พ่อจะดูแล จัดเตรียม และจะนำทางลูกเสมอไป”

 

ด้วยวิธีนี้ พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้เป็นพยานแก่จิตวิญญาณของคาร์ลว่า เขาเป็นลูกของพระเจ้า (รม. 8:16) การรับรู้ในใจถึงความสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับพระเจ้าแบบนี้เป็นวิธีที่สามที่ให้ความมั่นใจแก่เราถึงความสัมพันธ์กับพระเจ้า การอภัยบาปจากพระองค์ ตลอดจนการมีชีวิตนิรันดร์  เรารู้เพราะพระวิญญาณของพระเจ้าเป็นพยานแก่เราทั้งจากภายนอก โดยผ่านการเปลี่ยนนิสัยใจคอและความสัมพันธ์ของเราอย่างต่อเนื่อง และโดยส่วนตัวผ่านความมั่นใจลึกๆว่า เราเป็นลูกของพระเจ้า

 

ความคิดหลายอย่างในการศึกษาเรื่องนี้มาจากชั้นเรียน The Alpha Course โดยนิคกี กัมเบล  ผมขอแนะนำหนังสือของเขาที่ชื่อ Questions of Life (คำถามแห่งชีวิต)  ฉบับภาษาไทยจัดพิมพ์โดย อัลฟาประเทศไทย

 

ดัดแปลงโดย คีธ โธมัส

 

Email: keiththomas@groupbiblestudy.com

 

Website: www.groupbiblestudy.com

bottom of page